นามานุกรมภาษาจีนกลางซึ่งสะกดด้วยพินยิน แต่แทนเสียงด้วยภาษาไทย

ช่วงนี้ผมกำลังนั่งทำนามานุกรมเฉพาะอย่างอยู่ครับ เพื่อใช้ในการเขียนข่าวจีนแปลไทยใน Taimix เพราะคนแปลข่าวในนั้นไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว แต่มีคนอื่นอีกหลายคนด้วย

ตอนแรกเลยคิดว่าจะแปลข่าวจากต้นฉบับภาษาจีน แต่พอเอาเข้าจริงกลับพบว่า ข่าวซึ่งสำนักข่าวได้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วนั้น มันกลับมีเนื้อหาที่ตรงกับต้นฉบับภาษาจีนเลย ก็เลยคิดว่าอ้างอิงจากข่าวจีนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษดีกว่า เพราะถึงอ้างไปที่ต้นฉบับภาษาจีน คนอ่านที่อยากอ่านต้นฉบับก็อาจจะอ่านไม่รู้เรื่องอยู่ดี!

แย่หน่อยที่คนไทยที่รู้ภาษาจีน ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษ!!!

ทีนี้ประเด็นที่พบก็คือ ถึงแม้ว่าคนที่แปลข่าวจีน (จากข่าวที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) จะเก่งกาจภาษาอังกฤษเยี่ยงไรก็ตาม แต่ก็กลับกลายเป็นว่าพวกเขากลับตกม้าตายตอนจบ เพราะว่าไม่สามารถสะกดเสียงสถานที่ในเมืองจีนหรือบุคคลสำคัญของเมืองจีนได้อย่างถูกต้อง เข้าทำนองเขียนมาอย่างนึงสะกดเสียงเป็นภาษาไทยอีกอย่างนึง

จริง ๆ แล้วเราสามารถใช้รูปของภาษาไทย เพื่อการออกเสียงภาษาจีนกลางได้นะ เพราะภาษาไทยมีพยัญชนะ, สระ และ วรรณยุกต์ เป็น super-set ของภาษาจีนกลาง จึงสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการออกเสียงภาษาจีนกลางได้ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะออกเสียงได้คล้ายมากกว่า 90%

แต่เนื่องจากการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสะกดเสียงจีนกลางนั้น มันทำได้แต่ในระดับพยัญชนะและสระ แต่มันไม่สามารถทำในระดับวรรณยุกต์ได้ จึงทำให้เกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “Beijing” ถ้าเราออกเสียงตามภาษาอังกฤษที่เขียนก็คือ “เบยจิง” ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เพราะที่ถูกต้อง ๆ ออกเสียงเป็น “เป่ยจิง” ถึงจะถูก

ไอ้ครั้นจะมานั่งสอนการออกเสียงภาษาจีนกลางด้วย พินยิน ให้คนอื่นอีกหลายคนที่ร่วมแปลข่าวก็กระไรอยู่ เพราะขนาดผมเองยังต้องเรียน จู้ยิน กับ พินยิน และ ภาษาจีน อยู่ตั้งเป็นปีกว่าจะรู้เรื่องได้ แล้วจะสอนให้คนอื่นที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษแน่นปึ้ก แต่กลับไม่มีพื้นฐานภาษาจีนให้รู้เรื่องได้ไง?

หลังจากคิดอยู่แปดตลบในที่สุดผมก็คิดออกว่า แทนที่ผมจะมานั่งสอนภาษาจีนให้ใคร ๆ ผมก็ให้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยดีกว่า ว่าแล้วผมก็คิดจะทำ “นามานุกรมภาษาจีนกลางซึ่งสะกดด้วยพินยิน แต่แทนเสียงด้วยภาษาไทย” ทันที โดยแบ่งคำศัพท์ออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

  1. ชื่อของหน่วยการปกครอง เช่น มณฑล, เขตปกครองตนเอง, เทศบาลนคร, เขตปกครองพิเศษ, เมือง และ เขต เป็นต้น
  2. ชื่อของหน่วยงานราชการ เช่น สมัชชาประชาชน, พรรคคอมมิวนิสต์, กระทรวง, สถาบันการศึกษา, สถาบันวิจัย เป็นต้น
  3. ชื่อของสถานที่สำคัญ เช่น ป่า, น้ำตก, ภูเขา, แม่น้ำ, คลอง, บึง, ทะเลสาบ เป็นต้น
  4. ชื่อของบุคคลสำคัญ เช่น นักการเมือง, นายทหาร, นักกีฬา, นักวิทยาศาสตร์, คนบันเทิง เป็นต้น

จะเห็นว่าจุดสำคัญของนามานุกรมดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่กลไกในการแสดงผลทีล่ะคำเหมือนกับของ Lexitron หรือแสดงผลทั้งหน้าเว็บเหมือนกับ Longdo หรอกครับ เพราะการโค้ดน่ะมันไม่เท่าไหร่หรอก แต่ที่สาหัสก็คืองานแทนเสียงซะมากกว่า!!!

ตอนนี้ผมทำนามานุกรมฯในส่วนของ “ชื่อของหน่วยการปกครอง” ไปได้ 2,500 คำแล้ว ทำให้รู้ซึ้งว่านวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไปคงไม่ได้ยากตรงการโค้ดอ่ะครับ หากแต่มันจะไปยากตอนเตรียมข้อมูลให้ครบซะมากกว่า

แต่ถึงจะลำบากยังไงนะ ผมก็ยังคิดว่าหากทำสำเร็จก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะต่อไปถึงผมจะมีผู้ร่วมเขียนข่าวเพิ่มขึ้น หรือผู้เขียนข่าวคนเก่าออกไปคนใหม่เข้ามาแทน ก็ไม่จำเป็นต้องมากังวลเรื่องที่ผู้เขียนข่าวจะออกเสียงภาษาจีนไม่ถูกต้องแล้วล่ะ เนื่องจากมีนามานุกรมฯให้ทุกคนได้ใช้กันอย่างสะดวกโยธินซะที

[tags]ภาษาจีน, พินยิน, จู้ยิน, แทนเสียง, ภาษาไทย, จีนกลาง, Longdo, Lexitron[/tags]

Related Posts

8 thoughts on “นามานุกรมภาษาจีนกลางซึ่งสะกดด้วยพินยิน แต่แทนเสียงด้วยภาษาไทย

  1. โห พี่ไท้ เยี่ยมเลยครับ
    แล้วชื่อของหน่วยการปกครองตั้ง 2,500 คำนี่พี่ใช้เวลาในการทำนานเท่าไหร่ครับ

    เอ่อ “Wo deng kan kan ni de gongzuo.” หมายความว่าอะไรเหรอครับ

  2. Project นี้น่าสนใจครับ น่าเอามาใช้ร่วมกับ พวก text editor ต่างๆได้
    ใช้ช่วยแปลงคำทับศัพท์ eng->thai ที่ส่วนใหญ่จะเขียนตามใจฉัน หรือเขียนผิดๆก็ได้

    อย่างเช่น blognone ที่มักจะเขียนผิด และทักท้วงแก้คำกันประจำ ถ้าเอามาใช้ได้ก็ดี

    จริงๆ ใช้ได้กับ ภาษาอื่นๆมากมายเลย project ลักษณะนี้นะ

    (Project->โปรเจค หรือ โปรเจก หรือ โปเจก) *มันช่วยแก้ให้เลยใช่เปล่า

  3. ก็จะพยายามทำให้สำเร็จครับคุณอภิศิลป์ แต่ต้องค่อยทำไปวันล่ะเล็กวันล่ะน้อย ไม่งั้นจะท้อใจซะก่อน เพราะศัพท์มันเยอะจริง ๆ

    ผมทำมา 20 กว่าวันได้แล้วครับคุณเน็ต พยายามทำทุกวัน ๆ ล่ะมณฑล ส่วนประโยคที่คุณอภิศิลป์เขียนอ่านได้ว่า “หวอ-เติ่ง-คั่น-คั่น-หนี่-เตอ-กง-จว้อ” ครับ ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ผมจะเฝ้ารอผลงานของคุณ” นั่นเอง 😛

    ผมเห็นเรื่องการทักท้วงแก้คำมานานแล้วครับคุณ 7 … แล้วผมก็เห็นว่ามันเป็นการแก้ที่คน ซึ่งมันยาก อีกอย่างการทักท้วงแบบนี้จะทำให้เสียอารมณ์กันเปล่า ๆ ดังนั้นการใช้ซอฟต์แวร์มาช่วยแก้ให้จึงเป็นการดีกว่า … ว่าแต่ … ที่ผมจะทำมันเป็นแค่ตัวช่วยออกเสียงอ่ะครับ มันไม่เหมือนกับ Jingjo ที่ผมสร้างอ่ะ!! เพราะงั้นมันเลยเป็นคนล่ะแบบกัน…

  4. ผ่านมาครับ
    น่าสนใจดีครับ ขอให้สู้ๆ ครับ
    ส่วนตัวผมมองว่า ความยากของงานนี้อีกประการหนึ่งคือ
    การทำให้คนอื่นในสังคมยอมรับ
    จริงอยู่ว่า โปรเจกต์นี้เป็นช่องว่างทางการตลาด
    ภาษาจีนกลางกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย
    แต่ยังไม่มีระบบการถอดเสียงเป็นตัวอักษรไทยที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
    (เอาเข้าจริง ว่ากันว่าตำราเรียนมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกันก็มีน้อยมากครับ
    – ประโยคนี้อ้างจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์)
    ดังนั้นอย่างไรเสีย ความตั้งใจถือว่าดีครับ

    ผมเกรงว่า หากโปรเจกต์ดำเนินไป
    โดยไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ทางภาษาศาสตร์ จากนักวิชาการทางด้านนี้
    คำอธิบายที่มีเหตุผลว่าเพราะอะไรเสียงใด ควรปริวรรตเป็นเสียงใด
    การจะทำให้ยอมรับร่วมกันก็น่าจะลำบากครับ
    เพราะอย่างที่คุณ PeeTai กล่าว เรื่องตัวเลข 90%
    แต่เชื่อมั๊ยครับว่า นักวิชาการด้านนี้มักจะเถียงกันเรื่อง 10% ที่เหลือนี่แหละครับ
    หากเป็นเช่นนั้นจริง ผมเกรงว่าความตั้งใจและเวลาที่คุณ PeeTai เสียไปจะเหนื่อยฟรี

    ถ้ามีมาตรการรองรับกับปัญหานี้แล้ว ผมก็ยินดีด้วยนะครับ และก็สนับสนุนมากๆ

    สุดท้าย มีกรณีศึกษาน่าสนใจ อย่างค่ายมติชนก็ออกพจนานุกรมของตนเอง
    จนเป็นที่ยอมรับได้ ถึงแม้ว่า ราชบัญฑิตยสภาจะไม่ค่อยอยากจะยอมรับเลย
    น่าขบคิดครับว่า ทำไมมติชนถึงมีพลังขนาดนั้น พลังที่ทำให้สังคมยอมรับกับ
    มาตรฐานใหม่ที่เขานำเสนอ

  5. ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยครับคุณเจิ้งลี่ตง ว่าของแบบนี้ต้องให้นักภาษาศาสตร์มากำหนดด้วย T-T เรื่องใหญ่ซะแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *