ผังองค์กรของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

ถ้าใครออกมาทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แล้วการทำงานที่ว่าก็เป็นพนักงานประจำด้วย แถมอยู่ในองค์กรใหญ่โตด้วย ผมว่าคงยากนะ ถ้าจะมีคนที่ไม่คิดทะเยอทะยาน หวังจะไต่เต้าขึ้นไปสู่ที่สูง ๆ น่ะจริงแมะ?

ก็อย่างที่เคยโม้ไว้ ตราบใดที่ยังเป็นพนักงานประจำ ใคร ๆ ก็อยากจะก้าวหน้าทั้งนั้นแหล่ะ ขนาดตำรวจกับทหาร ก็ยังห่วงการอวยยศเลื่อนตำแหน่งเลย ต่อให้ใจแข็งยังไงก็ยังต้องมีคิดบ้างแหล่ะ นับประสาอะไรกับพนักงานบริษัทอย่างคนทั่ว ๆ ไป

ปรกติแล้วผมจะให้ความสนใจกับผังองค์กรมากเลยครับ โดยเฉพาะกับผังองค์กรขององค์กรทางด้านคอมพิวเตอร์ ผมจะดูว่าใครอยู่ตรงไหน มีตำแหน่งอะไรบ้าง แล้วใครใหญ่อยู่ตรงไหนบ้าง เพราะผมต้องไปคุยกับคนเหล่านี้ เพื่อให้เขาทำงานให้ผม หรืออำนวยความสะดวกให้ผม

ผมผ่านองค์กรมาหลายที่แล้ว เห็นผังองค์กรมาแต่ล่ะที พบว่าบางองค์กรก็มีผังองค์กรที่เรียบง่าย แต่บางองค์กรก็มีผังองค์กรที่สลับซับซ้อน แถมมีหน่วยงานไร้สาระอยู่ในนั้นด้วย

ผังองค์กร

องค์กรทางด้านคอมพิวเตอร์เอง ก็ต้องมีผังองค์กรเช่นกัน เพื่อใช้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ และใช้ในการควบคุมปกครอง ทราบกันมั้ยครับว่า ผังองค์กรยังสะท้อนถึงงบประมาณด้วย เพราะการมีกล่องเกิดขึ้น ย่อมหมายถึงเงินงบประมาณที่จะโยนเข้าไปในกล่อง ซึ่งก็คือค่าแรงของคนที่เกาะอยู่กับกล่องนั้นนั่นเอง

รุ่นก่อนผมไม่กี่ปี จะเป็นระดับผู้จัดการได้ อายุแค่ 33 ปีก็เป็นได้แล้ว อย่างมากก็ 35 ปี แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าปัจจุบันคนจะเป็นผู้จัดการได้ ต้องเฉียด ๆ 40 ปี ส่วนคนเป็น Team Lead กลับมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี ผมว่าอีกสิบปี สงสัยคนจะเป็นระดับผู้จัดการได้ คงต้องอายุเฉียด ๆ 50 ปีแหง ๆ เลย

สาเหตุคงเป็นเพราะคนเก่าก็อยู่ต่อไป คนใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้เวลาในการได้รับการอวยยศเลื่อนตำแหน่ง ถูกทำให้ทอดยาวขึ้นไปนั่นเอง

บางองค์กรคอมพิวเตอร์ กลัวว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์จะรอการอวยยศเลื่อนตำแหน่งเพื่อจะได้อยู่ในกล่องที่ตัวเองต้องการไม่ไหว ก็พยายามจะสร้างกล่องเทียมขึ้นมาประเภทตำแหน่ง “รอง” หรือ “ผู้ช่วย” อะไรประมาณนี้ เพื่อจะดึงเวลาให้บุคลากรอยู่กับตัวเองให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้

ผมมองว่าการที่ประเทศไทยเราผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตทางด้านไอทีได้มากขึ้นทุกปี อีกทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศไทยซึ่งขยายตัวที่ 4% ในแต่ล่ะปี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการขยายตัวที่ว่าจะรองรับบัณฑิตและมหาบัณฑิตทางด้านไอทีทั้งหมดได้หรือเปล่า

ถึงตอนนั้นบริษัทต่าง ๆ ก็คงต้องมานั่งทบทวนผังองค์กรคอมพิวเตอร์ขององค์กรของตัวเองล่ะครับ ว่าจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใดเพื่อรองรับการขยายตัวนี้ ซึ่งอันนั้นก็คงเป็นปัญหาของพวกเขาแหล่ะครับ เอิ๊ก ๆ

[tags]ผังองค์กร,นักพัฒนาซอฟต์แวร์,องค์กรคอมพิวเตอร์[/tags]

Related Posts

4 thoughts on “ผังองค์กรของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

  1. ขอบคุณมุมมองของพี่ไท้น่ะครับ เป็นมุมมองของคนมาก่อนที่ใว้บอกคนมาหลังให้รู้ว่าเส้นทางที่อยู่ข้างหน้าได้เปลี่ยนไปบ้างแล้ว เพราะยุคนี้การแข่งขันมันสูงขึ้น สิ่งแวดล้อมง่ายต่อการเรียนรู้(เอาง่ายๆซื้อหนังสือง่ายขึ้น ดูได้จากBlogของเมื่อวาน) ทำบุคลากรด้านนี้มีมากขึ้น ไม่รู้ว่าต้องแข่งก่ะคนอีกกี่หมื่นคนกันเนี่ยตู……………..

  2. แต่ในความเห็นผม ถ้าอาุยุของตำแหน่งสูงต้องสูงตามไปด้วย ไม่น่าจะมีปัญหานะครับ เีพียงแต่ อย่ากดคนใหม่ แล้วก็ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากเท่าอายุก็พอแล้ว (^O^)

  3. เห็นด้วยกับคุณ patr ครับเพราะ มีมากเหมือนกันที่อายุงานมาก แต่ทำงานไม่ค่อยเอาไหนหนะครับ (ไม่ใช่กลุ่มซอฟแวร์อย่างเดียวหนะครับ ผมพูดถึงรวม ๆ หนะ) และ แต่ถ้าอายุงานมากและทำงานมีประสิทธิภาพ มีภาวะความเป็นผู้นำที่ดี ก็จะเป็นที่นับหน้าถือตาจากคนรุ่นหลัง ๆ เพราะสามารถเป็นที่พี่งได้ ปรึกษา หารือได้ นั่นเอง

  4. ในอนาคตนะ ผมว่าเส้นทางมันจะลาดชันกว่านี้ครับคุณ memtest เพราะเดี๋ยวนี้บัณฑิตและมหาบัณฑิตจบกันออกมาแยะเหลือเกิน

    พูดถึงกดคนใหม่นะคุณ patr ทำให้ผมนึกถึงบางองค์กร และบางคน คือเขาหวงความรู้มากเลยครับ หวงมาก หวงจะเป็นจะตายเลย แล้วเขาก็น่าสงสารครับ เพราะเขาทำเป็นคนเดียว เขาก็เลยต้องทำคนเดียว ใครก็ช่วยเขาไม่ได้ บางทีเวลาระบบล่ม ตัวเขาเองเป็นไข้เลือดออก ก็ยังต้องถ่อสังขารมาแก้ปัญหาเลย น่าสงสารจริง ๆ

    การทำให้คนนับถือ เป็นเรื่องยากจริง ๆ ครับคุณสิทธิศักดิ์ ดังนั้น เราเริ่มจากการนับถือตัวเองก่อนดีกว่า อ๊ะ ๆ ไม่ใช่หลงตัวเองนะครับ อย่าหลงประเด็นล่ะ 😛

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *