หนึ่งปีที่ผ่านมาผมลงหลักสูตรของ Udemy เรียนสารพัดวิชาเยอะมาก เลือกเรียนวิชาที่ตัวเองอ่อน ปรากฎว่าอ่อนมันทุกวิชาเลยเรียนมันทุกวิชา

จริง ๆ แล้วต้องโฟกัสนิดนึงว่า ที่ว่าอ่อน ผมโฟกัสเรื่อง STEM ที่ตัวเองอ่อน วิชาในโลกมีเป็นแสนวิชา ถ้าต้องเรียนทุกวิชาที่ตัวเองอ่อน สงสัยเรียนไปอีกหลายชาติ

ผ่านมาปีนึงแล้วที่ตั้งอกตั้งใจเรียน ทั้ง ควอนตัมคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์ ไมโครคอนโทรลเลอร์ ระบบฝังตัว แคลคูลัส และ การทำเกมด้วย Unity กับ RPG Maker MZ ผลคือบางตัวได้รู้ลึก ส่วนบางตัวได้รู้กว้าง และเพราะหลายวิชาต้องมีปฏิบัติบ้างถึงจะเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ผมไม่ได้ปฏิบัติ เน้นแต่ทฤษฎี ดังนั้น เลยเลือกรู้กว้างเอาไว้ก่อน

ทำไมต้องเรียน เรียนไปทำไม?

เหตุผลง่าย ๆ โลกมันกำลังขับเคลื่อนเร็วมากด้วย STEM และเดิมมันขับเคลื่อนโดยฟากตะวันตก แต่ตอนนี้ฟากตะวันออกก็แข่งกันขับเคลื่อนด้วย ส่งผลให้ของเจ๋ง ๆ จาก STEM โผล่กันออกมาเต็มไปหมด ในเมื่อไม่มีปัญญาทำมันเองได้ ก็ขอเข้าใจหลักการทำงานของมันได้ก็ยังดี

ที่สำคัญ ประชากรเกิดใหม่กำลังลดลง ส่วนคนก็อายุยืนขึ้น สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมคนแก่ คนแก่แรงก็ไม่ค่อยจะมี สุขภาพก็ไม่ค่อยดี เหลืออย่างเดียวที่พอจะเกื้อกูลสังคมได้ ก็คือสมองที่ยังแจ่มใสและอัดแน่นด้วยความรู้ เพื่อที่จะให้คำปรึกษาสังคม หรือแม้กระทั่งไปคิดไปทำเองก็ยังพอได้

โชคดีที่อะไรที่เกี่ยวกับ STEM ส่วนใหญ่ มันถูกยกขึ้นมาอยู่บนระบบคอมพิวเตอร์ มือถือ และ กลุ่มเมฆ เกือบหมดแล้ว ทำให้การคิดหรือทำอะไรกับมัน เป็นการนั่งทำงาน ไปหาที่เย็น ๆ นั่งทำได้ จะทำที่ไหนก็ได้ แถมเดี๋ยวนี้อุปกรณ์ราคาไม่แพง อินเทอร์เน็ตก็เร็ว ระบบไร้สายก็แข็งแรง ดีไปหมด

เราอาจเข้าใจว่ายุคถัดจากนี้จะเป็นยุคที่เอไอกับหุ่นยนต์เข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน STEM ก็ได้ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใช้งาน จะคิดแบบนี้ก็ได้นะ แต่คนส่วนน้อยที่เป็นผู้คิดค้นและพัฒนา ซึ่งผมก็เป็นคนส่วนน้อยนี่แหล่ะ จะคิดงี้ไม่ได้

และเมื่อผมคิดว่าจะคิดงี้ไม่ได้ (ซึ่งเป็นการคิดเองเออเองนะ) ผมก็เลยต้องมานั่งแกะทีล่ะตัวของ STEM ว่าผมอ่อนอะไรบ้าง และสนใจอะไรบ้าง แล้วก็เลือกเรียนวิชาในหัวข้อนั้น ๆ

S = Science = วิทยาศาสตร์

ถ้า Science หมายถึง ฟิลิกส์ เคมี ชีววิทยา แล้วล่ะก็ ต้องบอกเลยว่าช่วงปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้ลงหลักสูตรอะไรเกี่ยวกับพวกนี้เลย มันเป็นวิชาที่บริสุทธิ์ พื้นฐาน และเชิงทฤษฎีมาก จะเอาไปปฏิบัติได้ต้องต่อหลายยอด และที่สำคัญ วิชาพวกนี้มันกว้างมาก แถมเคยเรียนมาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว ผมเลยคิดว่า ผมไม่ลงหลักสูตรเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดีกว่า

T = Technology = เทคโนโลยี

เทคโนโลยีนี่แหล่ะคือสิ่งที่ต่อหลายยอดจากวิทยาศาสตร์ ผมน่าจะเรียนวิชาในหัวหมวดนี้เยอะสุด ทั้ง ควอนตัมคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี และ การทำเกมด้วย Unity กับ RPG Maker MZ ผมจัดว่าอยู่ในหัวหมวดนี้หมด และเรียนครบก็พบว่า มีแต่การทำเกมด้วย Unity กับ RPG Maker MZ นี่แหล่ะ ที่พอจะเอาไปทำอะไรที่จับต้องเข้าถึงผู้คนได้ นอกเหนือจากนี้ คือเรียนเอารู้เฉย ๆ เพราะมันยังไกลตัวอยู่

E = Engineering = วิศวกรรม

ผมไม่ใช่สายวิศวกรรม เป็นสายวิทยาศาสตร์แท้ ๆ ดังนั้น วิชาวิศวกรรมนี่ไม่เคยเรียนมาก่อนแน่ ๆ เลยต้องเตรียมใจนิดนึงว่าผมจะไม่รู้เรื่อง แล้วก็จริงอย่างที่คิด มันอย่างยาก ต้องทวนหลาย ๆ รอบถึงพอจะเข้าหัว ผมเลือกเรียนเฉพาะวิศวกรรมที่เกี่ยวกับไฟฟ้า เพราะมันใกล้ตัวนิดนึง ใกล้กับเรื่องคอมพิวเตอร์ ก็เลยลงเรียน อิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์ ระบบฝังตัว และ ไมโครคอนโทรลเลอร์ เรียนเสร็จก็ได้แต่ร้องโอ้โห เราคงทำชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของมันไม่ได้ ทำได้อย่างมากก็คือเอาชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่มีบริษัทผลิตขายมาประกอบกัน แล้วถ้าเอาของจริงมาประกอบก็เปลืองตังค์ด้วย งั้นก็คงต้องลองประกอบมันในโปรแกรมจำลองก่อน แล้วถึงจะใจกล้า ๆ ไปเอาของจริงมาประกอบตามโปรแกรมจำลองให้มันเกิดชิ้นงานจับต้องใช้งานได้อีกทีนึง

ผมมีถาม ChatGPT นะ ว่ามีใครจำคุณสมบัติของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของทุกรุ่น ทุกแบรนด์ และทุกเบอร์ ได้มั้ย มันตอบเลยว่าไม่มีทาง ใครจะไปจำได้ สิ่งที่ทำได้คือเราต้องกำหนดความอยากของเราก่อน แล้วค่อยไปค้นว่ามีชิ้นส่วนไหนเอามาประกอบแล้วตรงกับความอยากของเรา ความยากของอิเล็กทรอนิกส์ ระบบฝังตัว และ ไมโครคอนโทรลเลอร์ เลยไม่ใช่เรื่องของการผลิตชิ้นส่วนล่ะ แต่เป็นเรื่องของการค้นหาชิ้นส่วนที่มีเป็นแสน ๆ รุ่น/แบรนด์/เบอร์ ว่าอันไหนมันเอามาประกอบแล้ว ทำได้อย่างที่เราต้องการที่สุด ได้ประสิทธิภาพด้านพลังงาน พื้นที่ และ ความเร็ว มากเท่าที่ต้องการที่สุด ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเป็นประสบการณ์ พอเห็นเป็นอย่างนี้แล้ว ผมก็เลยเรียนเพื่อให้คุยกับวิศวกรให้พอเข้าใจกันก็ได้ก็พอ ส่วนไอ้ที่ยาก ๆ ก็ปล่อยให้วิศวกรตัวจริงคิดทำต่อไปแล้วกัน

M = Mathematic = คณิตศาสตร์

ผมอ่อนแคลคูลัส อ่อนแบบว่าท่องสูตรได้ แต่พอเจอโจทย์จริงก็ทำไม่ค่อยได้ เลยไปเอาตัวรอดด้วย สถิติ ความน่าจะเป็น พีชคณิตเชิงเส้น และ เรขาคณิตวิเคราะห์แทน ซึ่งก็ทำให้พอรอดชีวิตมาได้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็นั่นแหล่ะ ของยากด้านวิทยาศาสตร์มักรองรับด้วยแคลคูลัส และบรรดาเปเปอร์งานวิจัยทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ยาก ๆ ก็ล้วนแต่สอดไส้คาราเมลด้วยแคลคูลัสทั้งนั้น ส่งผลให้ผมต้องตัดสินใจ ลังเล หันซ้ายหันขวา ตรึกตรอง ว่าจะรื้อฟื้นคณิตศาสตร์ด้านแคลคูลัสดีมั้ย และสุดท้ายผมก็ตัดสินใจว่า อือ เอาหน่อยแล้วกัน เพราะขนาดอินทิเกรตบายพาร์ต ยังท่องได้แต่สูตร แต่ทำจริงไม่ค่อยคล่องเลย จะรื้อฟื้นก็คงไม่สูญเปล่าซะทีเดียว ผมก็เลยเลือกที่จะเรียนแคลคูลัสสี่ตัว มีตัวหนึ่ง สอง สาม และ สมการอนุพันธ์

ผลคือผ่านมาปีนึงแล้ว เก็บได้แค่แคลคูลัสหนึ่งกับสอง ส่วนแคลคูลัสสามกับสมการอนุพันธ์ ยังดองเอาไว้ในไหอยู่เลย

แต่กลับไปทวนก็ดีอย่างนึงนะ เพราะตอนที่เคยเรียนพอไม่เข้าใจก็ข้ามไป ข้ามจนพื้นฐานอ่อน พอตอนนี้กลับไปเรียนใหม่ ที่เคยรู้สึกว่ามันยากก็เริ่มไม่ยากล่ะ เริ่มเข้าใจล่ะว่าทำไมมันเป็นงั้นเป็นงี้ แต่พอทำข้อสอบในหลักสูตร ก็ยังมีทำไม่ได้อยู่บ้าง โดยเฉพาะโจทย์ที่ยาก ๆ รู้สึกเลยว่าไม่รู้จะยากไปไหน แล้วก็ได้ร้องอ๋อเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงต้องสอนวิชา ระเบียบวิธีเชิงตัวเลข เพื่อประมาณการผลลัพธ์ของสมการอันแสนซับซ้อน เพราะถ้าให้คำนวณตรง ๆ คงกินแรงน่าดู

STEM

ผมมีถาม ChatGPT เหมือนกันว่าตัว M ตัวสุดท้ายทำไมไม่ใช่ Medicine ที่เป็นการแพทย์ ซึ่งมันก็ตอบว่าการแพทย์อยู่ภายใต้ร่มของ S หรือก็คือวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว จะให้เพิ่มเป็น STEMM เพื่อแถมการแพทย์ไว้สุดท้ายก็กระไรอยู่

หนึ่งปีที่ผ่านมา ถึงแม้ผมจะเรียนมาเยอะมาก แต่ก็พบว่าสิ่งที่ถูกจริตตัวเองจริง ๆ คือ วิชาการทำเกมด้วย Unity ซึ่งผมลงเรียนไปตั้ง 3 วิชาแน่ะ และผมก็คิดว่าที่มันถูกจริตตัวเองก็คงเป็นเพราะมันเป็นสิ่งที่จบได้ด้วยเครื่องมือตัวเดียว คือ คอมพิวเตอร์ และเมื่อทำออกมาแล้วมันเอาไปเผยแพร่ได้ง่าย เผยแพร่ได้ไกล และเดี๋ยวนี้มีแพลตฟอร์มให้เผยแพร่ ไม่เหมือนกับอิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์ ระบบฝังตัว หรือ ไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่มันต้องมีส่วนประกอบอื่นนอกจากคอมพิวเตอร์ และเมื่อทำได้แล้วมันต้องใช้เวลาทำซ้ำ และทุกการทำซ้ำก็มีต้นทุน เพราะเป็นสิ่งจับต้องได้ ทำให้เผยแพร่ยาก เผยแพร่ไปได้ไม่ไกล

ผมคิดว่า STEM ที่แต่ล่ะคนสนใจคงไม่เหมือนกัน แต่ของผมก็คงประมาณนี้แหล่ะ

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *