งานวิจัยทางด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์

เข้าใจว่าตอนนี้หลาย ๆ คนในวงการคอมพิวเตอร์คงจะรู้จักควอนตัมคอมพิวเตอร์กันแล้ว ซึ่งคนที่รู้จักก็น่าจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ

1. กลุ่มรู้ทั่วไป คือ กลุ่มที่ตามข่าวของควอนตัมคอมพิวเตอร์ จึงรู้จักคิวบิตและสภาวะ Superposition ของมัน รู้จักความพัวพันเชิงควอนตัม รู้จักการประมวลผลขนานแบบควอนตัม และรู้จักควอนตัมคอมพิวเตอร์ยี่ห้อต่าง ๆ ที่ถูกผลิตโดยบริษัทชั้นนำของโลก

2.  กลุ่มรู้เยอะ คือ กลุ่มที่อ่านเปเปอร์ด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์มาแล้วหลายฉบับ มีความรู้ในการคำนวณสภาวะ Superposition ของคิวบิต รู้วิธีการออกแบบควอนตัมเกต รู้อัลกอริทึมทางควอนตัมแบบต่าง ๆ รู้จักทฤษฎีความซับซ้อนในการคำนวณเชิงควอนตัม

3.  กลุ่มลงมือทำ คือ กลุ่มที่ทำวิจัยด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์โดยตรง คนพวกนี้รู้ทุกอย่างที่คนกลุ่มที่ 1 และ 2 รู้ และพวกเขาก็ไม่หยุดที่จะลงมือทำ

พวกเราส่วนใหญ่คงเป็นคนกลุ่มที่ 1 และมีน้อยคนที่เป็นคนกลุ่มที่ 2 แต่ถ้าเกิดว่าเราอยากเป็นคนกลุ่มที่ 3 ล่ะ เราจะทำยังไง? หลายคนอาจจะมองว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่เกินเอื้อม เป็นเรื่องของบริษัทชั้นนำของโลก สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก หรือประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งนั่นก็จริงแหล่ะ แต่ทุกอย่างมีช่องว่างของมัน ถึงช่องว่างมันจะเล็ก แต่มันก็กว้างพอให้คนตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเราลอดผ่านไปได้

สมมติว่าผมชวนให้พวกเรามาเป็นคนกลุ่มที่ 3 กลุ่มคนที่คิดจะทำวิจัยด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์ งั้นเราก็ต้องมาหาช่องว่างกัน ว่ามันมีช่องว่างเล็ก ๆ ตรงไหนบ้างที่พวกเราจะไปเติมเต็มได้ ซึ่งผมก็คงต้องชี้แจงก่อนว่า ตอนนี้งานวิจัยทางด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์ มันมีขอบเขตแค่ไหน โดยขออ้างอิงจากบทความของ Rodney Van Meter และ Clare Horsman เรื่อง A Blueprint for Building a Quantum Computer ซึ่งตีพิมพ์ใน Communication of the ACM ฉบับที่ 56 ลำดับที่ 10 ประจำเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 นะครับ

A blueprint for building a quantum computer
A blueprint for building a quantum computer

จากภาพจะเห็นว่า การจะสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ซักเครื่องนึง มันมีปัญหาหลายระดับและแต่ล่ะระดับก็มีปัญหาหลายส่วน ดังนั้น แค่เพียงคิวบิตอย่างเดียวมันไม่พอจะทำให้เกิดเป็นควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ มันยังต้องทำโน่นทำนี่อีกเยอะแยะเพื่อให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา

ส่วนตัวผมมองว่า ถ้าคนไทยเราจะทำวิจัยทางด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์ เราคงมีโอกาสน้อยมากในการทำวิจัยในระดับของสถาปัตยกรรมควอนตัมคอมพิวเตอร์ และระดับของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสถาปัตยกรรมควอนตัมคอมพิวเตอร์ เพราะมันต้องจ่ายเยอะมากเพื่อลองผิดลองถูก ใกล้เคียงที่สุดที่เป็นไปได้ คือ คนไทยเราน่าจะหันไปวิจัยในระดับของทฤษฎีการคำนวณทางควอนตัม หรือ ระดับของการโปรแกรมเชิงควอนตัมแทน เพราะมันเป็นงานทางทฤษฎี ไม่ต้องมีของก็ยังพอจะทำได้บนพื้นฐานของคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์

ปัจจุบัน ผมเริ่มเห็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย บรรจุวิชา Quantum Computing ในหลักสูตรปริญญาบัตรและบัณฑิตศึกษากันบ้างแล้ว และเริ่มเห็นว่าคนไทยเราก็เริ่มทำวิจัยในระดับของทฤษฎีการคำนวณทางควอนตัมแล้วเช่นกัน (ลองอ่านงานวิจัย การลดรูปของ Genetic Algorithm บนควอนตัมคอมพิวเตอร์ และ การเร่งวงจรบนควอนตัมคอมพิวเตอร์)

จริง ๆ ผมก็เข้าใจนะ ว่าการลงลึกในความรู้แบบนี้มันยาก และบางคนก็มองว่า มันอาจจะไม่ได้ช่วยให้เรามั่งคั่งได้ในเวลาอันใกล้ แต่ไม่แน่ว่าด้วยความชำนาญทางด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีค่าตัวแพงมาก ๆ ในอนาคตข้างหน้าก็ได้ ใครจะรู้?

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *