สถาปัตยกรรมของเงินดิจิตอล

มนุษย์เราทุกวันนี้คุยกันง่ายกว่าเมื่อสมัยก่อนมากเลยนะครับ ตั้งแต่มีการยอมรับเงินตรากันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเดินไปสนามหลวงแล้วคอแห้งขึ้นมา ผมตรงรี่เข้าไปที่รถเข็นขายน้ำตาลสด หลิ่วตาให้แม่ค้านิดนึงแล้วบอกว่าผมจะกินน้ำตาลสด แม่ค้าก็เปิดขวดน้ำตาลสดให้ผมแล้วบรรจงยื่นให้ผมอย่างช้า ๆ พร้อมทั้งรับเงินซึ่งเป็นธนบัตรจากผมมูลค่าที่ตราไว้ยี่สิบบาท

คิดดูสิครับว่ากระดาษผิวมัน ๆ สีเขียว ๆ ใบนึงซึ่งกินก็ไม่ได้ ดื่มแก้กระหายก็ไม่ได้ กลับสามารถแลกน้ำตาลสดแสนหวานแสนอร่อย ดื่มแล้วสดชื่นได้ตั้งขวดนึงแน่ะ!!!

แต่ช้าก่อนครับมันยังไม่ง่ายถึงขนาดนั้น ผมเล่าข้ามช็อตไปหน่อยนึง ผมต้องเล่าต่อว่า หลังจากแม่ค้าได้รับธนบัตรมูลค่าใบล่ะยี่สิบบาทของผมไปแล้ว สิ่งที่เธอจะทำอย่างอัตโนมัติก็คือ เปิดจอรับภาพที่ดวงตาของเธอ เพื่อตรวจคุณลักษณะของธนบัตรใบดังกล่าว พร้อมทั้งส่งภาพเข้าสู่สมองของเธอ เพื่อทำการเปรียบเทียบว่าธนบัตรดังกล่าวนั้นทรงคุณค่าและเป็นที่เชื่อถือศรัทธาจริง ๆ หรือไม่

สมองของเธอทำการวิเคราะห์ด้วยระบบ pattern recognition ทันที ว่าธนบัตรดังกล่าวนั้นมีสีสันที่ถูกต้อง, มีขนาดที่ถูกต้อง, มีพระบรมฉายาลักษณ์, มีลายน้ำ, ตัวอักษรบนธนบัตรมีรอยนูน, มีแถบเส้นพาดขวางสอดใส่อยู่ภายใน, ส่องไฟแล้วเห็นรูปดอกบัวปรากฎ, มีลายเซ็นผู้มีอำนาจลงนาม, มีข้อความที่ถูกต้องตามกฎระเบียบ, มีการระบุมูลค่าที่ชัดเจน, มีหมายเลข serial no. เป็นต้น (เยอะชิบเป๋ง)

จะเห็นว่าแค่ธนบัตรใบล่ะยี่สิบเพียงใบเดียว แค่ใบเดียวเองนะ ยังมีคุณลักษณะที่วุ่นวายมากมายอะไรขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุเดียวที่ต้องทำให้มันดูวุ่นวายแบบนี้ก็เพราะว่า … ต้องการให้เกิดความเชื่อถือศรัทธานั่นเอง!!!

ซึ่งก็อีกเช่นกัน เมื่อใครก็ตามพบว่าธนบัตรดังกล่าว มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนอย่างที่มันควรจะเป็น ความเชื่อถือศรัทธาก็ย่อมลดน้อยถอยลงเป็นลำดับทันที ซึ่งสิ่งที่เขาหรือเธอจะกระทำก็มีเพียงแค่สองหนทางเท่านั้น นั่นก็คือปฏิเสธที่จะไม่รับมัน หรือ ยอมรับมันมาแล้วรีบผ่องถ่ายออกจากตัวให้เร็วที่สุด!!!

ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในแวดวงคอมพิวเตอร์ว่า เงินตราได้ขึ้นมาวิ่งเล่นบนระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ขึ้นมาวิ่งเล่นในฐานะของตัวเงินจริง ๆ ไม่ใช่ในลักษณะของตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป

แต่ยังไงซะเงินตราที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ก็ยังเป็นเงินตราที่ถูกหนุนหลังโดยเงินตราจริง ๆ อยู่ดี ดังนั้นเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ จึงมุ่งเน้นไปที่การ “โอนถ่าย” ตัวเลขของเงินเป็นสำคัญ หรือจะบอกว่าไงดี ต้องบอกว่าให้ความสนใจใน “ความถูกต้อง” และ “ความปลอดภัย” ในการ “โอนถ่าย” ตัวเลขของเงินเป็นสำคัญถึงจะถูก

ผมคงไม่โม้ถึงเรื่อง “ความถูกต้อง” และ “ความปลอดภัย” ในการ “โอนถ่าย” ตัวเงินครับ เพราะหน่วยกิตในวิชาทางคอมพิวเตอร์มีสอนกันอยู่แล้ว แต่ผมจะโม้ถึงว่าเราน่าจะมองเงินดิจิตอล ให้เหมือนกับที่เรามองโค้ดโปรแกรมเป็นแบบ Object Oriented Programming กันบ้างนะ!!!

อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้ ๆ กันอยู่ว่าซอฟต์แวร์นั้นเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ เรารู้ว่ามีมันอยู่ก็เพราะผลลัพท์ที่เกิดจากมัน เป็นการรับรู้ตัวตนโดยผ่านทางอ้อม และถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะเห็นว่าซอฟต์แวร์นั้นมันจับต้องไม่ได้ แต่เขาก็ยังพยายามที่จะออกแบบให้มันเป็นเชิงวัตถุ เป็น Object Oriented Programming อยู่ดี … เป็นการสร้างมโนภาพแห่งวัตถุในสิ่งที่จับต้องไม่ได้!!!

งั้นเรามาลองกันบ้างดีกว่า แทนที่จะให้เงินดิจิตอลเป็นเพียงตัวเลขโอนไปโอนมา เราก็ลองมากำหนดให้มันเป็น “มโนภาพแห่งวัตถุในสิ่งที่จับต้องไม่ได้” ก็ไม่เลวเหมือนกัน โดยลอกแบบจากการสร้างองค์ประกอบแห่งเอกลักษณ์หลาย ๆ อย่างของธนบัตรท่าจะดี

เริ่มแรกก็กำหนดให้เงินดิจิตอลมีลักษณะเป็น Object ไม่ใช่เป็นเพียงค่าตัวเลขเฉย ๆ อือม น่าจะมีองค์ประกอบประมาณนี้นะ

โครงสร้างเงินดิจิตอล

  • ไบต์ที่ 0 – 9 ไว้เก็บ Serial No. ของเงินดิจิตอลโดย 1 ไบต์แทนตัวเลข alphanumeric 1 หลัก
  • ไบต์ที่ 10 – 23 ไว้เก็บ Digital Signature ของผู้ออกใช้เงินดิจิตอล เพื่อยืนยันความถูกต้องของเงินดิจิตอล
  • ไบต์ที่ 24 – 31 ไว้เก็บวันที่ออกใช้ของเงินดิจิตอล โดย 1 ไบต์แทนตัวเลข alphanumeric 1 หลัก
  • ไบต์ที่ 32 – 37 ไว้เก็บมูลค่าที่ตราไว้ของเงินดิจิตอล โดย 1 ไบต์แทนตัวเลข alphanumeric 1 หลัก
  • ไบต์ที่ 38 – 45 ไว้เก็บค่า CRC64 ซึ่งได้จากการคำนวนตั้งแต่ไบต์ที่ 0 – ไบต์ที่ 37

ทีนี้เราก็จะมองเห็นว่าเงินดิจิตอลเป็น Object ได้ล่ะ เพราะมันไม่ใช่มีแต่ตัวเลขอย่างเดียว แต่มันมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวมันเองด้วย จากนั้นเราก็มากำหนดมูลค่าที่ตราไว้ของเงินดิจิตอลกัน

อย่างเหรียญกษาปน์ก็กำหนดเป็น 25 สตางค์, 50 สตางค์, 1 บาท, 2 บาท และ 5 บาท ส่วนธนบัตรจริง ๆ ก็กำหนดเป็น 20, 50, 100, 500 และ 1000 ใช่ป่ะ!!!

งั้นเงินดิจิตอลก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดเหมือนเงินจริง ๆ ก็ได้ เราอาจจะกำหนดให้มูลค่าที่ตราไว้ของเงินดิจิตอลหนึ่ง object มีค่าเป็น 10 สตางค์, 1 บาท, 10 บาท, 100 บาท และ 1000 บาทเป็นต้น

ซึ่งเมื่อเงินดิจิตอลถูกออกแบบให้เป็น object แบบนี้แล้ว การโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างผู้จ่ายและผู้รับ ก็จะไม่ใช่การโอนตัวเลขจำนวนเงินอีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็นการโอน object ของเงินดิจิตอลให้ครบถ้วน ตามผลรวมของมูลค่าที่ตราไว้ใน object เงินดิจิตอลดังกล่าว

ไม่รู้ว่าสมมติฐานแบบนี้มันจะเกิดประโยชน์อะไรหรือเปล่าอ่ะดิ ฮา 😛

[tags]สมมติฐาน, สถาปัตยกรรม, เงินดิจิตอล, คอมพิวเตอร์, ซอฟต์แวร์[/tags]

Related Posts

10 thoughts on “สถาปัตยกรรมของเงินดิจิตอล

  1. งั้นเราก็จะสามารถเก็บเงินไว้ใน mp3 player และจ่ายตังค์ผ่านบลูทูธด้วย ..ว้าว!!
    งี้ถ้าผมจะไปซื้อรถยนต์ซักคันคงต้องเพิ่ม sd card อ่ะดิ

    ปล. อ่านบล็อกพี่มานานครับหัวข้อนี้ผมละชอบใจจริงๆ 🙂

  2. ทำเป้น object เเสดงว่าต้องมี class
    class คงอยู่กับรัฐบาลคอยปั้มเงิน อะดิ

  3. ทำอย่างพี่ไท้ไม่ได้อ่ะครับ เพราะว่ามันไม่มีความเป็นเจ้าของในนั้นอ่ะครับ ต้องเพิ่ม path ของเงินเข้าไปด้วย

    ปัญหาที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือสมมติว่า ผมมีเงิน id เดียวกันเป๊ะ (สมมติว่าผมปลอมเลขขึ้นมา) คำถามคือ จะรู้ได้ไงว่า ของคนไหนเป็นของจริง

    คุณสมบัติที่ต้องมีของ currency ที่ผมคิดได้คือ (ขาดแน่นอน)
    1) มี credit ในนั้น(เช่นมี valuable metal back อยู่ หรือสินค้าอะไร back อยู่)
    2) ไม่สามารถ reproduce ได้ด้วยคนอื่น
    3) สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้ (พี่ไท้ขาดอันนี้อ่ะครับ)

  4. จะทำเป็น obj ทำไมอ่ะครับ ถ้าอยู่ในระบบมันก็เป็น credit
    โอนถ่ายกันไปมาอิงกับแหล่งกำเนิด คือสถาบันการเงินรูปแบบต่างๆ
    พอเราโอนเงินจากโลกดิจิตอลลงมาสู่ชีวิตจริง(โอนจาก online ไป offline)
    มันก็จะเป็น obj โดยอัตโนมัติเองแหละ คืออยู่ในรูปธนบัตรไง

  5. แปลความเห็นผมเป็นภาษาชาวบ้าน คือ…คนรับเงินเพราะเชื่อว่าเค้าจะเอาเงินนั้นไปแลกเป็นอาหารในตอนที่เค้าหิวได้

  6. อ๋า งั้นก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่เลยนะเนี่ยคุณ kike

    ผมยอมแพ้คุณ GRU เลย T-T ผมคิดไม่ไกลถึงขนาดนั้น นอกกรอบมัก ๆ

    555 เข้าใจเปรียบนะคุณ bin

    คิดไปเรื่อยอ่ะครับคุณ mokin, คุณ 7, คุณ Copywriter ผมคิดนอกกรอบ อิ อิ

    เรื่องที่ต้องมีสิ่งหนุนหลังเงินตรา เป็นปัญหาคลาสสิคอย่างที่คุณ Tee บอกจริง ๆ ครับ คิดยากทำยาก

  7. เป็นความคิดหรือแนวคิดที่ไม่เลวเหมือนกัน ดูๆแล้วน่าจะยุ่งๆเหมือนกันนะ
    แล้วผลมันจะต่างกับการโอนเป็นตัวเลขไปเลยไม่ง่ายกว่าเหรอ ถ้าเกิดว่ามันเป็น object ขนาดนั้น แล้วจะให้ใช้ได้สะดวกก็ต้องเป็นระบบจ่ายและทอนอัตโนมัติอีก แล้วก็มันก็จะเหมือนกับการโอนตัวเลขอยู่ดีน่ะหละ
    เอ้อแต่่ว่าดูอย่างว่าเงินนั้นๆมันผ่าน sd card ตัวไหนมา แล้วโดนโอนไปไหนมันเหมือนจะมีรอยนิ้วมือติดเอาไว้ก็น่าจะเอาไว้ tracking ที่มาของเงินได้ แล้วก็ลดกระบวนการฟอกเงินได้ด้วย เพราะว่าตัวเหรียญทุกแบงค์ก็มีรอชยนิ้วมือหรือรอยกระเป๋าตังค์ติดอยู่
    เอ้อเป็นแนวคิดที่เลวเหมือนกันนะครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *