อนาคตของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

เมื่อสองสามวันก่อนผมเขียนไว้เรื่องการปฏิวัติสารสนเทศ โดยเน้นไปที่การปฏิวัติสารสนเทศ อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบของทุนสำรองเงินตราและการปริวรรตเงินตราของชุมชนออนไลน์ในอนาคต

มาวันนี้ขอเป็นนักอนาคตศาสตร์อีกวันนึง เพื่อทำนายแนวโน้ม, งาน, ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคตกันดีกว่า

การปฏิวัติสารสนเทศเป็นเครื่องย่นกาลเวลา ที่จะนำมาซึ่งสองสิ่งที่มีผลเกี่ยวเนื่องกัน

  1. การแพร่กระจายของความรู้, การแลกเปลี่ยนความรู้ และการจัดระเบียบความรู้ นำมาซึ่งการตกผลึกความคิดแนวใหม่, รูปแบบการผลิตสินค้าและบริการแนวใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสินค้าทดแทนต่าง ๆ ขึ้นมากมาย
  2. การมีสินค้าทดแทนเกิดขึ้น จะนำมาซึ่งการปรับขบวนของแรงงาน ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์เองก็หลบเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ เพราะนักพัฒนาซอฟต์แวร์เองก็ถือว่าเป็นชนชั้นแรงงานเช่นกัน

เมื่อทราบถึงแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จากผลเกี่ยวเนื่อง อันเกิดจากการปฏิวัติสารสนเทศจากย่อหน้าข้างบนแล้ว ก็จะทำให้สามารถทำนายอนาคตของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาได้เป็น 4 รูปแบบดังนี้

1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์กลายเป็นไพร่

เนื่องจากนโยบายของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เลยทำให้ที่ไหน ๆ ก็ผลิตบัณฑิตทางด้านคอมพิวเตอร์ออกมากันใหญ่ โดยไม่ได้ไปนั่งโต๊ะคุยกันก่อนว่า เฮ้ย สถาบันคุณผลิตแค่นี้ก็พอ ของผมก็จะผลิตเท่านั้นเท่านี้เหมือนกัน จะได้ออกมาให้มันพอดีกับการเติบโตของภาคการผลิตและภาคการบริการ

ผลจากการไม่คุยกัน ก็เลยผลิตบัณฑิตทางด้านคอมพิวเตอร์กันออกมามากว่าที่ตลาดแรงงานต้องการ ทำให้อำนาจต่อรองตกไปอยู่กับผู้ประกอบการหรือนายทุน

อีกทั้งการแพร่กระจายของความรู้ อันเกิดจากการปฏิวัติสารสนเทศ จึงทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มีทักษะ และมีความรู้ที่ใกล้เคียงกัน วิ่งไล่กวดกันทัน และที่สำคัญคนที่จบสาขาอื่น ก็สามารถที่จะสร้างทักษะในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทัดเทียมหรือเหนือล้ำกว่าคนที่จบคอมพิวเตอร์ได้!!!

นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงต้องแย่งงานกันทำ และต้องก้มหน้ารับค่าแรงที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตนเองพึงพอใจ ไม่กล้าย้ายงานส่งเดช เพราะรู้ว่ามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ตกงานรอเสียบแทนอยู่เต็มไปหมด

2. นักพัฒนาซอฟต์แวร์กลายเป็นเทพ

การปฏิวัติสารสนเทศได้เร่งเร้าให้เกิดสินค้าทดแทนขึ้นมากมาย ซึ่งในอุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้น สินค้าทดแทนก็จะได้แก่ ทฤษฎีคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ, เครื่องมือใหม่ ๆ และซอฟต์แวร์สำเร็จรูปใหม่ ๆ

การจะสร้างสินค้าทดแทนกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะมีการแลกเปลี่ยนและแพร่กระจายความรู้ แต่การใช้สินค้าทดแทนต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นให้ได้ครบทุก feature กลับกลายเป็นเรื่องยาก

ผู้ประกอบการและกลุ่มทุนซึ่งกระหายใคร่อยากจะได้ใช้ชุดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเหล่านั้น จึงต้องตามหานักพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วย customize ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเหล่านั้นให้

แต่เนื่องจากที่ความรู้เกี่ยวกับวิชาคอมพิวเตอร์มันแพร่กระจายไปทั่ว ทำให้คนรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจในคอมพิวเตอร์อยู่ แต่กลับไม่อยากสนใจจะเรียนในสาขาวิชาทางคอมพิวเตอร์เหมือนแต่ก่อน กลับแห่แหนกันไปเรียนในสาขาวิชาอื่นซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้นมากกว่า

ทำให้จำนวนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ถูกผลิตโดยสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ลดฮวบฮาบลงมาก อีกทั้งคนที่เคยเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาก่อน ก็เริ่มเบื่อหน่ายในการทำงานคอมพิวเตอร์ แล้วหันไปทำอย่างอื่นที่มันท้าท้ายและสนุกมากกว่า

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็เลยกลายเป็นของหายาก ที่จะต้องถูกแย่งตัวกันอย่างจ้าละหวั่นจากผู้ประกอบการและกลุ่มทุน

3. ตลาดแรงงานไม่ต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์

ด้วยการเกิดขึ้นของวิชา Genetic Programming และการปฏิวัติสารสนเทศ จึงทำให้ใคร ๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างกว้างขวาง สิ่งนี้เป็นตัวเร่งเร้าให้การวิจัยพัฒนา Genetic Programming ประสบความสำเร็จ

ด้วยความสำเร็จนี้ จึงทำให้สามารถสร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถเติบโตได้, ออกลูกออกหลานได้ และสามารถต่อเติมตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อถึงตรงนี้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์กลายเป็นแรงงานที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะคอมพิวเตอร์มันสามารถสร้างซอฟต์แวร์เองได้แล้ว ถ้าหากว่าเราป้อนความต้องการของเราเข้าไป

ผู้ประกอบการและนายทุนก็จะคงดีใจจนเนื้อเต้น เพราะหากได้ซอฟต์แวร์ที่รับคำสั่งได้ และเมื่อป้อนคำสั่งไปว่าอยากได้ซอฟต์แวร์อะไร มันก็สามารถผลิตออกมาได้ ก็จะสามารถลดต้นทุนค่าแรงของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างมากมายทีเดียว

4. นักพัฒนาซอฟต์แวร์กลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์

การเกิดขึ้นของชุมชน open source ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการปฏิวัติสารสนเทศ ทำให้งาน และความมั่งคั่งของนักพัฒนาซอฟต์แวร์เปลี่ยนไป นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะเริ่มสร้างซอฟต์แวร์เพื่อการกุศล ทำฟรี ไม่คิดค่าตอบแทน สิ่งที่ต้องการได้คือความอิ่มเอมในจิตใจ, ความรู้สึกสดชื่น, กระปรี้กระเปร่า และทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นมีคุณค่า มีตัวตนในโลกใบนี้

ผู้ประกอบการและนายทุนก็จะเริ่มหันเหมาที่ open source เพราะมันฟรี และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งสร้างซอฟต์แวร์โดยไม่คิดตังค์ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ก็จะกระทบเป็นไม้กระดก เพราะการที่ผู้ประกอบการและนายทุนหันไปใช้ open source และเลิกสนใจกับการซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูป หรือเลิกสนใจกับการจ้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วย customize หรือสร้างซอฟต์แวร์อย่างที่ต้องการให้แล้ว …

บริษัทซอฟต์แวร์เหล่านั้น ก็จะลดการจ้างงานนักพัฒนาซอฟต์แวร์ลงอย่างฮวบฮาบ จนทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องไปทำอาชีพอื่น หรือกลายเป็นผู้ประกอบการไป

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอนาคตในแบบใดก็ตาม ล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ดังนั้น ทำตามคำพระแล้วกันครับ ทีว่า …

จงถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทครับ

[tags]นักพัฒนาซอฟต์แวร์,อนาคต,การปฏิวัติสารสนเทศ,แรงงาน,พัฒนาซอฟต์แวร์[/tags]

Related Posts

7 thoughts on “อนาคตของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

  1. อนาคตบนโลกของการพัฒนาซอฟแวร์มันวิ่งเร็วเหลือเกินครับ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่ยืนอยู่กับที่เปรียบเสมือนคนที่เดินถอยหลังเพราะทุกคนเคลื่อนที่ไปข้่างหน้าหมดแล้ว

  2. ความคิดผมนะครับ

    ข้อ 4
    ส่วนตัวผมคิดว่า Opensource ใช้ในวงธุรกิจไม่ดีหรอกครับ และ ไม่ควรอย่างยิ่ง
    มันผิดพลาดตั้งแต่คุณเปิดเผยให้ใครก็ตามเห็นการทำงานของระบบแล้วครับ
    ผมคิดว่าคงจะถูกใช้งานแค่อะไรที่ไม่ลับและสำคัญครับ เพราะฉะนั้นความจริงจัง
    ในการใช้งานไม่น่าจะสูงนัก แรงผลักดันก็คงไม่สูงมากเพราะขาดการรับผิดชอบ
    อย่างจริงจังในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาด

    ข้อ 3
    ยังไงผู้ใช้ ก็ยังเป็นผู้ใช้ครับ แต่ข้อนี้จะไปสนับสนุนความคิดข้อ 1 ความต้องการ
    คงจะต่ำลงแน่ๆๆ

    ข้อ 2
    ระดับเทพนี่ คงยากครับ ผมว่าตามหลักแล้ว มันมีแต่จะต่ำลง

    ข้อ 1
    ข้อนี้แหละ ที่ผมคิดว่าอนาคตจะเป็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาชนมี
    ความสามารถในการทำสูง แต่ความสามารถในการคิดต่ำครับ ถึงคิดได้ ก็ไม่ทำ
    เราไม่ชอบสร้างครับ และเราก็ไม่เก่งที่จะเริ่มสิ่งใหม่ๆ เราเก่งที่จะดัดแปลง หรือ
    ทำการ Copy สิ่งที่มีอยู่ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง อาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวกันตรงไหน
    ยกตัวอย่างง่ายๆ

    ก่อนหน้านี้ ธุรกิจหมูกะทะ มีคนทำน้อยครับ นากุ้ง ก็มีคนทำน้อย พอราคาดี
    ทุกคนก็หันไปทำเลียนแบบความสำเร็จกันไป เมื่อ Demand มีเท่าเดิม แต่
    ว่าเจ้า Supply ดันเยอะ นักธุรกิจท้องถิ่น รวมไปถึงระดับสูง ก็จะใช้ไม้ตาย
    นั่นคือการ ลดราคา และ เพิ่มคุณภาพ ซึ่ง ผู้บริโภคยิ้มแก้มปริพุงกาง
    สุดท้าย ร้านมันก็จะเจ๊ง . . Software ก็เหมือนกันครับ

    มหาวิทยาลัย พัฒนานักศึกษา ตามขนาดความต้องการตลาด เพราะทุกวันนี้
    การศึกษาเป็นธุรกิจครับ ตลาดแรงงานมีเงินสูง ความต้องการศึกษาก็จะมาก
    มหาวิทยาลัยก็จะรองรับโดยไม่พิจารณาความสามารถในการสอน สุดท้าย
    ก็จะผลิตมาจนล้นตลาด . . วันนึง ถ้าผู้ลงทุนรู้จักนำประโยชน์จากข้อ 3 และ
    4 มาใช้ให้เต็มที่ ข้อ 1 ก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มตัว เพราะปริมาณ บัณฑิตมันเยอะ
    อยู่แล้วครับ และข้อ 3 และ 4 จะทำให้เค้าไม่จำเป็นต้องเลือกหัวกะทิ ซึ่งค่าตัว
    มันแพงเกินไป

    ท้ายที่สุด พอเรื่องราวเป็นแบบนี้ไปนานๆ ก็จะเข้าทำนอง การแข่งขันของราคา
    ค่าโทร ของค่าโทรศัพท์อย่าง AIS , Dtac , True ครับ เมื่อก่อนผู้ใช้คิดว่านาที
    ละ 3 บาทก็ยังปกติ ปัจจุบันถ้าเกินนาทีละ 1 บาท มันแพงครับ

    ก็เหมือนกัน ถ้าความต้องการนักพัฒนาหัวกะทิน้อยลง เพราะค่าตัวแพง ผู้ลงทุน
    ก็คงจะจ้างนักพัฒนาธรรมดา มากดเงินเดือน แล้วก็รีดงาน โดยใช้คนหลายๆคน
    แทนที่จะจ้างคนเก่งคนเดียว เสียเงินเท่ากัน มีคนเยอะกว่า ใช้ Opensource
    มาพัฒนาต่อเพื่อประหยัดต้นทุน ท้ายที่สุดสภาพแวดล้อมแบบนี้จะทำให้ ค่าแรง
    นักพัฒนา จะถูกลง ด้วยความคุ้นเคยในการจ่าย

    ผมว่าผมเขียนไปแล้วชักงงๆ สื่อสารไม่เก่งครับ แต่มั่นใจว่าวันหนึ่งจะถึง ข้อ 1
    พวกเราจะไม่มีใครเป็น นักพัฒนา ประจำองค์กรใด องค์กรหนึ่ง แต่นักพัฒนา
    จะรวมตัวเป็นเหมือนกับพวก Outsource ที่รับ Job หลายๆที่ แทนที่จะทำแค่
    ที่เดียว

  3. แต่ผมชอบแบบที่ 4 ที่สุดนะครับ เพราะดูเป็นการแข่งขันแบบสมบูรณ์ดี (ไม่รู้เค้าเรียกกันแบบนี้หรือเปล่า)
    คนใช้สามารถเลือกได้ คนที่ทำซอฟต์แวร์ขายก็ต้องทำให้ดีกว่า แจกฟรี (แก้เผ็ดคนทำออกมาขายอย่างลวกๆเอาเปรียบ) คน ทำแจกฟรีก้อได้บุญอิ่มใจอย่างพี่ไท้บอก คนจ้างก็สบายใจเพราะมีตัวเลือกมากขึั้น

  4. ถ้ามันเปลี่ยนเร็วมาก ๆ เห็นทีเราจะคุมสติไม่อยู่เหมือนกันครับ ^o^ คุณ memtest

    ความคิดของ Mr. Stamp กว้างขวางครับ ผมออกความเห็นคนเดียวไม่ได้ คงต้องให้ท่านอื่นช่วยวิพากษ์ด้วย ^o^ น่าจะดี

    เห็นกันหลัด ๆ ^o^ เหมือนกำลังจะไปเฝ้าพระอินทร์เลยเน้อะคุณ xinexo

    แล้วแต่แนวคิดครับคุณ patr เพราะ Mr.Stamp เองก็มีแนวคิดอีกแบบนึงสำหรับข้อ 4 ^o^

  5. ผมมีความคิดเห็น ค้ลายกับ Mr.Stamp ส่วนหนึ่งครับ คือข้อ 1 หรือ ข้อ 2 แต่(ข้อสองจะเกิดตามหลังข้อหนึ่งเสมอ (ถ้ามันจะเกิดนะครับ) . . ) แต่ผมไม่คิดว่า ข้อ ที่ 3 และ 4 จะเป็นไปไม่ได้นะครับ เป็นไปได้ครับ แต่อาจจะเป๋นอนาคตที่ยาวไกล ครับ (หมายถึงอิกนานกว่าจะเกิด)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *