คลื่นลูกที่สาม ระลอกใหม่

คลื่นลูกที่สาม ระลอกใหม่

โลกใบนี้มีหนังสือชื่อ “คลื่นลูกที่สาม” อยู่ 2 เล่ม เล่มแรกแต่งโดย อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ส่วนเล่มสองแต่งโดย สตีฟ เคส

หนังสือ 2 เล่ม ตีพิมพ์ห่างกันสามสิบกว่าปี โดย อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ อธิบายคลื่นลูกที่สามในภาพใหญ่ ส่วนของ สตีฟ เคส อธิบายขยายความคลื่นลูกที่สามลงไปในภาพย่อย

ถ้าเอาแนวคิดคลื่นลูกที่สามของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ กับของ สตีฟ เคส มารวมกัน ก็จะเป็นไปตามหัวข้อข้างล่างนี้

  • คลื่นลูกที่หนึ่ง สังคมเกษตรกรรม การเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินและแหล่งผลิตเกษตรกสิกรรมนั้นถือเป็นกุญแจสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญสุด
  • คลื่นลูกที่สอง ยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม การขยายตัวทางการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากหลาย ภายใต้แรงขับดันจากเทคโนโลยีเครื่องจักรเป็นองค์ประกอบสำคัญ
  • คลื่นลูกที่สาม ยุคของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร การเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลจากทุกแห่งหน ภายใต้การเชื่อมโยงองค์ประกอบพื้นฐานที่ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และโครงสร้างโทรคมนาคม
    • คลื่นลูกที่สาม ระลอกที่หนึ่ง เป็นยุคของการสร้างโครงสร้างและฐานรากของโลกอินเทอร์เน็ต
    • คลื่นลูกที่สาม ระลอกที่สอง เป็นยุคที่มีบริษัทเริ่มตั้งตัวจากอินเทอร์เน็ต
    • คลื่นลูกที่สาม ระลอกที่สาม เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ขาดอินเทอร์เน็ตไปแล้วจะทำให้กิจการเสียความสามารถในการแข่งขันและผู้บริโภคเสียประโยชน์

ที่มา : The Third Wave ถอดรหัสคลื่นลูกที่สาม

จากหัวข้อข้างบน หัวข้อใหญ่คือแนวคิดของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ส่วนหัวข้อย่อยคือแนวคิดของ สตีฟ เคส

จริง ๆ แล้วในหนังสือคลื่นลูกที่สามของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ไม่ได้เขียนว่าคลื่นลูกที่สามเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์และโครงสร้างโทรคมนาคมแต่เพียงเท่านั้น ยังได้อ้างถึงความก้าวหน้าอื่น เช่น นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม วัสดุศาสตร์ และ การพัฒนาด้านสมุทรศาสตร์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นลูกที่สามด้วยเช่นกัน

แต่เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์ แท็ปเลต มือถือ โทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต มันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ๆ และส่งผลต่อโลกในวงกว้าง ดังนั้น มันเลยกลายเป็นตัวแทนของคลื่นลูกที่สามไปโดยปริยาย

ในอนาคตข้างหน้า เมื่อนาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม วัสดุศาสตร์ และ การพัฒนาด้านสมุทรศาสตร์ มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะได้เห็นคลื่นลูกที่สามระลอกอื่น นอกเหนือจากระลอกทางด้านคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และ อินเทอร์เน็ต

คิดว่าเมื่อถึงตอนนั้นคำว่า คลื่นลูกที่สาม คงต้องถูกนิยามกันใหม่อีกครั้ง

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *