เก่งงาน เก่งคน เก่งวิสัยทัศน์

เก่งงาน เก่งคน เก่งวิสัยทัศน์

ตารางข้างล่างนี้ ผมเห็นจากในเฟสบุ๊คครับ มันผ่านตาเข้ามาในไทมไลน์ ผมไม่ได้สังเกตว่าใครแชร์มา ไม่ได้สังเกตว่าใครเป็นคนโพสต์  และเห็นว่าเจ้าของโพสต์เขียนตารางข้างล่างนี้ด้วยปากกา ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าท่า น่าจะเอามาเล่าต่อ ผมเลยเอามาทำเป็นตาราง จัดให้เป็นระเบียบนิดนึง แล้วเอามาเล่าให้อ่านกัน

เก่งงาน เก่งคน เก่งวิสัยทัศน์
เก่งงาน เก่งคน เก่งวิสัยทัศน์

โปรแกรมเมอร์หลายคน “เก่งงาน” ครับ วิศวกรระบบคอมพิวเตอร์หรือวิศวกรเครือข่ายหลายคนก็เก่งงานเหมือนกัน อะไรทางเทคนิคยาก ๆ ทำได้หมด แต่พวกเขาก็อาจจะไม่ได้ถูกเลื่อนขึ้นจากระดับปฏิบัติการไปอยู่ระดับบริหารจัดการ เพราะพวกเขาไม่ได้ “เก่งคน”

ผู้จัดการหลายคน “เก่งคน” มากครับ สามารถใช้โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ วิศวกรระบบคอมพิวเตอร์ หรือ วิศวกรเครือข่าย ให้บูรณาการงานด้วยกัน ทำโน่นทำนี่ด้วยกัน โดยใช้ต้นทุนได้ต่ำ ทำงานออกมาได้รวดเร็ว และผลลัพธ์อยู่ในระดับดี แต่ผู้จัดการเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกเลื่อนขึ้นจากระดับบริหารจัดการไปอยู่ระดับกำกับดูแล เพราะพวกเขาไม่ได้ “เก่งวิสัยทัศน์”

บางครั้งเราอาจจะรู้สึกไปเองว่า ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรไอที แทบจะไม่รู้อะไรทางเทคนิค คือ ไม่ “เก่งงาน” เลย และแทบจะไม่รู้จักคนระดับปฏิบัติการเท่าไหร่นัก คือ ไม่ “เก่งคน” เลย แต่เขากลับคิดลำดับขั้นตอนของเป้าหมายได้ ว่าทิศทางที่ควรจะพากันเดินไป ไปทางไหน ไปแล้วได้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ และไปแล้วมีอนาคตหรือเปล่า เพราะพวกเขา “เก่งวิสัยทัศน์”

ทุกครั้งที่เราเริ่มสละเวลาไปเก่งในด้านหนึ่ง เราก็จะเริ่มขาดแคลนเวลาในการทบทวนฝึกฝนความเก่งเดิม จนทำให้ความเก่งเดิมถดถอยลงไป

แต่หลายครั้ง ผมก็มักเจออะไรที่แปลก ๆ ไม่ตรงกันกับตารางข้างบนเท่าไหร่นัก เช่น

  • คนระดับปฏิบัติการ ไม่เก่งงานเลย แต่เก่งคนมาก ผลคือแทนที่เราจะได้โปรแกรมเมอร์ เรากลับเสียโปรแกรมเมอร์ไป และได้ผู้แจกงานตามงานมาแทน
  • คนระดับบริหารจัดการ ถูกเลื่อนขั้นเพราะความจำเป็น และเขายังคงเก่งงานอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่ยังไม่เก่งคนซักเท่าไหร่นัก ผลคือแทนที่เราจะได้ผู้จัดการ กลับกลายเป็นว่าเราได้โปรแกรมเมอร์อาวุโสมาแทน
  • คนระดับกำกับดูแล แทบไม่มีเวลาคิดอ่านให้เกิดวิสัยทัศน์เลย เพราะต้องมาเก่งคน มาบริหารคนแทนผู้จัดการ เพราะผู้จัดการยังยึดติดกับความเก่งงาน ยังไม่สามารถปรับตัวให้เก่งคนได้

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ตารางข้างบนนิดนึง ผมคิดว่าตารางข้างบนที่ถูกนำเสนอนั้น มันน่าจะเหมาะกับองค์กรที่มีการจัดลำดับชั้นองค์กรเรียบร้อยแล้ว ก่อตั้งมาได้ระยะหนึ่งจนระบบเข้าที่เข้าทางแล้ว ไม่น่าจะเหมาะกับบริษัท Startup เท่าไหร่

แต่ถ้าคน ๆ เดียวในบริษัท Startup เป็นทั้ง 3 ระดับข้างบน ผมว่าตารางนี้น่าจะถูกแหล่ะ เพราะคน ๆ นั้นต้อง เก่งงาน เก่งคน เก่งวิสัยทัศน์ จริง ๆ ถึงจะนำพาบริษัท Startup ให้รอดไปได้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนหรอก ที่คิดจะไต่เต้าจากระดับปฏิบัติการไปสู่ระดับกำกับดูแล มันเป็นเรื่องของรสนิยมและความสามารถ บางคนเขาก็อยากเขียนโปรแกรมไปตลอดชีวิต หรือบางคนเขียนโปรแกรมไม่เป็นเลยอยากจะไปเป็นคนแจกงานตามงานคนเขียนโปรแกรมแบบนี้ก็มี

อยาก เก่งงาน เก่งคน หรือ เก่งวิสัยทัศน์ เราก็เลือกของเราเลยครับ ตามจริตและรสนิยมของเรา อย่าให้ใครมากำหนดตัวตนเราครับ ให้สภาพแวดล้อมและความจำเป็นกำหนดตัวตนเราเองครับ

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *