พวกเราทราบกันใช่มั้ยครับว่า งานวิจัยทางคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพดี มักจะถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิจัยหรือในประชุมวิชาการของ ACM หรือ IEEE?

ACM ย่อมาจาก Association for Computing Machinery แปลเป็นภาษาไทยแบบทื่อ ๆ ว่า สมาคมสำหรับการคำนวณเครื่องจักร แต่ถ้าอธิบายเป็นความหมายก็หมายถึง สมาคมของผู้ที่มีความสนใจในการคำนวณโดยใช้เครื่องจักร ซึ่งสำหรับในปัจจุบันก็หมายถึงการคำนวณโดยใช้คอมพิวเตอร์นั่นเอง

ผมเคยถามอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยของผม รวมทั้งเคยถามอาจารย์หัวหน้าหลักสูตรที่ร่างหลักสูตรให้ผมเรียนว่า ระหว่างงานวิจัยทางคอมพิวเตอร์ที่ตีพิมพ์ใน ACM กับ IEEE อันไหนมีภาษีมากกว่ากัน?

IEEE ย่อมาจาก Institue of Electrical and Electronics Engineers แปลว่า สถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ แต่ถ้าอธิบายเป็นความหมายก็หมายถึง สมาคมของเหล่าบรรดาวิศวกรไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ (จริง ๆ ไม่ต้องอธิบายเลยนะ เพราะคำแปลมันตรงตัว)

อาจารย์ทั้งสองบอกผมตรงกันว่า งานวิจัยถ้าเป็นทางคอมพิวเตอร์ อันที่ตีพิมพ์ใน ACM จะมีภาษีมากกว่า IEEE สาเหตุเป็นเพราะ ACM เน้นเรื่องการคำนวณโดยเครื่องจักร หรือก็คือการคำนวณโดยคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องจักรคำนวณโดยใช้สัญญาณไฟฟ้าแบบหนึ่ง ในขณะที่ IEEE มีขอบเขตกว้างกว่านั้น เพราะครอบคลุมในทุกสิ่งที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังไฟฟ้า หรือ การใช้สัญญาณไฟฟ้า เช่น อิเลกทรอนิกส์ โทรคมนาคม หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ ก็ล้วนถูกครอบคลุมด้วยทั้งสิ้น ดังนั้น อะไรที่มันกว้างกว่าก็ย่อมเจือจางกว่าเป็นธรรมดา

books-408220_640

ถึงแม้ว่างานวิจัยทางคอมพิวเตอร์คุณภาพดีจะถูกตีพิมพ์อยู่ใน ACM และ IEEE เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า เพราะงานวิจัยที่ใหม่สุดยอด หรืองานวิจัยที่มีผลปฏิวัติวงการ จะถูกจัดให้ตีพิมพ์อยู่ในฐานันดรที่เหนือกว่านั้น เป็นฐานันดรที่อยู่บนสุดของยอดพีระมิด นักวิจัยคนไหนก็ตามที่ได้ตีพิมพ์ในฐานันดรนี้ จะมีเกียรติยศอย่างมากมาย เหมือนกับการตีบอสใหญ่เพื่อชนะเกมได้เลยทีเดียว

เหนือ ACM ยังมี SIGs ACM และเหนือ IEEE ยังมี IEEE Transaction!!!

SIGs ย่อมาจาก Special Interest Groups เป็นกลุ่มที่มีความสนใจในการคำนวณโดยใช้คอมพิวเตอร์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ปัจจุบันแบ่งได้เป็น 37 กลุ่ม อยากรู้รายละเอียดจิ้มตรงนี้

โดยส่วนตัวผมไม่สนใจ IEEE Transaction ขอลำเอียงข้ามเลย ขอคุยแต่ของ SIGs ACM ก็แล้วกัน ซึ่งในนั้นผมจะสนใจงานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ใน 3 กลุ่มประกอบด้วย

  • SIGAI เป็นกลุ่มที่เน้นทางด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยเน้นเกี่ยวกับการทำให้เครื่องจักรเป็นตัวแทนของมนุษย์ และเป็นตัวแทนที่ทำงานได้หลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันหรือที่เรียกว่า Multi Agent
  • SIGKDD เป็นกลุ่มที่เน้นเกี่ยวกับการทำนายผลเฉลยโดยใช้ข้อมูลที่เคยถูกสอนเอาไว้ก่อน ที่เรียกเป็นศัพท์ทางเทคนิคว่า Machine Learning และกลุ่มนี้ก็ยังเน้นเกี่ยวกับการค้นหาความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่เรียกเป็นศัพท์ทางเทคนิคว่า Data Mining
  • SIGEVO เป็นกลุ่มที่เน้นการเลียนแบบธรรมชาติ เลียนแบบสัตว์ เลียนแบบแมลง เลียนแบบพืช เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณ โดยจุดมุ่งหมายคือการเอาชนะปัญหา Non-Deterministic Polynomial Time ด้วยการ Optimization เพื่อหาคำตอบที่เป็น Local Optimum ที่มีความใกล้เคียงกับ Global Optimum มากที่สุด และด้วยการเลียนแบบดังกล่าวนี้เอง ทำให้ดูเหมือนว่าคอมพิวเตอร์มันจะมีความคิดที่คาดเดาไม่ได้ และดูมีชีิวิตจิตใจขึ้นมา

งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน ACM หรือ IEEE ล้วนเป็นงานวิจัยในระดับที่ 1 คือการวิจัยทฤษฎี และระดับที่ 2 คือการวิจัยเพื่อนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ (ผมเคยเขียนอธิบายระดับเอาไว้ สนใจอ่านเพิ่มเติมกดตรงนี้) ดังนั้น มันจึงเป็นงานเขียนที่อ่านยาก ถ้าไปเทียบกับการอ่านหนังสือสอนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรืออ่านคู่มือการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันนั้นก็คนล่ะเรื่องกันเลยครับ

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *