ทุน, เทคโนโลยี และ แรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการ งั้นลองมาแจกแจงดูดีกว่าว่ากิจการของสังคมแต่ล่ะยุค ให้น้ำหนักกับปัจจัยการผลิตใดบ้าง?

เดี๋ยวนี้ทุนกับเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งชี้วัดการผลิตแล้ว เพราะใคร ๆ ก็สามารถหาทุนได้ ไม่ว่าจะโดยการเช่า, ยืม, จิ๊ก หรือซื้อแค่บางอย่างก็ตาม ส่วนเทคโนโลยีเองก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะมีคนแต่งหนังสือสอนกันเยอะแยะ หรือไม่บางคนก็สอนกันฟรี ๆ บนอินเทอร์เน็ตก็ยังมี

ปัจจัยชี้วัดในการผลิต และสร้างต้นทุนที่สูงกลับเป็น “แรงงาน” ซะมากกว่า เราจะพบว่าแรงงานในกิจการสารสนเทศจะมีราคาแพงที่สุด ส่วนแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมและกิจการเกษตรกรรมจะมีราคาถูกลดหลั่นกันลงมา!!

สาเหตุที่แรงงานในกิจการสารสนเทศมีราคาแพง ไม่ใช่เพราะพวกเขาเรียนจบระดับปริญญาบัตรกันมาแค่อย่างเดียว แต่เป็นเพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งของ “เทคโนโลยี” ของกิจการด้วย!

กิจการสารสนเทศของประเทศไทยเรา เป็นแบบรับจ้างทำของเป็นหลัก ดังนั้น ตัวกิจการเองก็ไม่มี “เทคโนโลยี” อะไรซักเท่าไหร่ ก็เลยต้องใช้แรงงานของกิจการ เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อทำงานให้เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ที่นี้มันก็เลยเกิดปัญหา เพราะแรงงานฯยิ่งทำก็ยิ่งมีประสบการณ์ แต่ประสบการณ์ดังกล่าวมันดันผูกติดไว้กับตัวของแรงงานฯ ไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเก็บไว้เป็น “เทคโนโลยี” ของกิจการ ดังนั้น ถ้าวันดีคืนดี แรงงานฯเกิดอยากจะได้ค่าแรงเพิ่มแบบเว่อร์ ๆ เจ้าของกิจการก็ต้องกลั้นใจให้ไป เพราะแรงงานฯดันเป็นผู้ครอบครอง “เทคโนโลยี” ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสินค้าและบริการของกิจการไปซะนี่

พอเป็นแบบนี้ ก็เลยมีคนคิดสิ่งที่เรียกว่า “Knowledge Management” ขึ้นมา หรือก็คือกระบวนการดึงเอา “เทคโนโลยี” ออกจากตัวแรงงานฯ แล้วผ่องถ่ายออกมาเป็น “เทคโนโลยี” ของกิจการในที่สุด ซึ่งภูมิความรู้ในวิชานี้ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก เพราะยังไงซะ Knowledge Management มันก็ช่วยได้แค่การดึง “ข้อมูล” และ “ความรู้” ออกมาจากแรงงานฯ แต่ยังไม่สามารถดึงเอา “ทักษะ” ออกมาจากแรงงานฯได้อยู่ดี

อีกทั้งเราก็ต้องรับทราบด้วยว่า “เทคโนโลยี” ที่แรงงานฯมีอยู่นั้นเป็นแบบไหน โดยเราต้องแบ่งย่อยออกเป็น

  1. เทคโนโลยีที่ติดตัวมากับแรงงานฯ คือแรงงานฯมี “เทคโนโลยี” ที่กิจการต้องการอยู่แล้ว กิจการจึงจัดจ้างเข้ามา ซึ่งถ้ากิจการสามารถดึงเอา “เทคโนโลยี” แบบนี้มาเป็นของกิจการได้ ก็ต้องถือว่าประเสริฐที่สุด แต่ก็ชั่วชาติที่สุดเช่นกัน เพราะเอาเปรียบซะเหลือเกิน!!!
  2. เทคโนโลยีที่กิจการต้องสอนให้แรงงานฯ หรือต้องลงทุนส่งให้แรงงานฯไปเรียน ไอ้แบบนี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องดึงเอา “เทคโนโลยี” ออกมาให้จงได้ เพราะถ้าอีตาคนนี้หรือยัยคนนี้ลาออกไป ก็จะกลายเป็นว่าสูญเสียการลงทุนไปฟรี ๆ
  3. เทคโนโลยีที่แรงงานฯนึกรู้ขึ้นมาเอง จากประสบการณ์ในการทำงานให้กิจการ ซึ่งกิจการก็ควรจะดึงเอา “เทคโนโลยี” มาเก็บเอาไว้เหมือนกัน รวมทั้งจัดหาแนวทางเพื่อให้มีการเผยแพร่ “เทคโนโลยี” ดังกล่าว ให้แรงงานฯคนอื่น ๆ ทราบเป็นวงกว้างด้วย

โดยสรุปแล้ว แรงงานในกิจการสารสนเทศ ซึ่งมีทั้ง “แรงงาน” และ “เทคโนโลยี” รวมผสมเข้าไว้ด้วยกัน จึงถูกนิยามยกชั้นขึ้นมาเป็น “ทุนมนุษย์” และได้ทลายการผูกขาด “ทุน” ของเจ้าของกิจการไปในที่สุด!

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *