การเติบโตของธุรกิจ Web Application แบบไทย ๆ

เราคงจะไปเปรียบเมืองไทยเราให้ไปเหมือนสหรัฐอเมริกาไม่ได้ครับ อย่างที่สหรัฐอเมริกานั้น หากใครคิดจะทำธุรกิจ Web Application เพื่อหวังจะได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการ หรือได้ค่าธรรมเนียมจากการโฆษณา เขาก็จะเปิดบริษัทตูม ๆ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำขึ้นมาเลย เพราะเขาสามารถระดมทุนได้โดยง่าย ความฝันในอนาคตของธุรกิจของพวกเขาสามารถขายได้ มีคนซื้อซะด้วย

ในช่วงแรกที่ธุรกิจยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เป็นบวกได้จึงไม่น่าห่วงอะไร เพราะระดมทุนมาได้เยอะ ทุนหนา!!

แต่เมืองไทยเราจะทำแบบนั้นไม่ได้ เราระดมทุนลำบาก เพราะไม่มีใครยอมซื้อความฝันหรือซื้ออนาคตกันซักเท่าไหร่ ดังนั้นผู้ก่อตั้งธุรกิจ Web Application จึงจำเป็นต้องลงทุนด้วยตัวเองไปก่อน ทั้งลงทุนเงินของตัวเองและลงทุนแรงงานของตัวเอง

สูตรสำเร็จที่คนรอบ ๆ ตัวผมมักจะทำกันบ่อย ๆ ก็คือ ตั้งบริษัท Web Application ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่ชำระค่าหุ้นเพียง 25% ของทุนจดทะเบียนซึ่งก็คือ 250,000 บาท ซึ่งถ้าใครเคยอ่านประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็จะรู้ว่ากฎหมายนั้นเปิดช่องให้กระทำได้

จากนั้นก็อย่าเพิ่งสร้างหนี้สิน หรือไปมีเรื่องมีราวกับใคร เพราะถ้าสร้างหนี้สินแล้วโดนฟ้อง หรือไปมีเรื่องมีราวจนโดนฟ้อง แล้วถูกบังคับคดีให้ใช้หนี้ก้อนใหญ่ ก็จะต้องชดใช้ด้วยทุนของบริษัทที่มี ซึ่งถ้าเจอหนี้ก้อนล่ะ 1,000,000 บาท เห็นทีจะแย่ เพราะผู้ถือหุ้นก็ต้องร่วมใช้หนี้ด้วย เพราะยังไม่ได้ชำระค่าหุ้นให้ครบ ยังขาดอีก 750,000 บาท (ถ้ามีเงินเหลือถึง 750,000 บาท ก็คงจะจ่ายค่าหุ้นเต็มจำนวนไปแล้ว ไม่ยื้อไว้ร้อก)

ความฝันในการทำธุรกิจ Web Application แบบเต็มรูปแบบในช่วงแรกนั้นยังทำไม่ได้ครับ เพราะปัญหากระแสเงินสดที่ต้องเป็นบวกให้ได้มันค้ำคออยู่ ดังนั้นเรื่องการหารายได้จากค่าธรรมเนียมในการให้บริการ หรือรายได้จากค่าธรรมเนียมในการรับจ้างโฆษณาจึงต้องพักไว้ก่อน ต้องหารายได้จากทางอื่นก่อน นั่นก็คือรับจ้างผลิตหรือดูแลเว็บไซต์ตามความต้องการของลูกค้า

ผมเห็นหลายบริษัททำงี้นะแปลกดี คือจริง ๆ บริษัทของพวกเขาต้องการสร้างรายได้หลักจากการรับจ้างผลิตและดูแลเว็บไซต์ แต่เนื่องจากการแข่งขันมันสูง คู่แข่งเยอะเหลือเกิน บริษัทเหล่านั้นจึงพยายามสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา แล้วโปรโมตให้เว็บไซต์เหล่านั้นดัง เพื่อหวังจะเป็นกระบอกเสียงให้กับตนเอง ในการเรียกลูกค้าให้มาใช้บริการผลิตและดูแลเว็บไซต์ของตน

แต่ทำไปทำมา กระบอกเสียงดันกลายเป็นกระบอกใส่ทองไป เพราะเว็บไซต์ที่ดัง ย่อมสามารถแปะโฆษณาเพื่อหารายได้เป็นกอบเป็นกำได้อีกทางนึง ซึ่งรายได้เหล่านี้อาจจะไม่ใช่เจตนาแรกที่บริษัทเหล่านั้นคาดหวังเอาไว้ก็ได้!!!

อือม มันจะเป็นการดีมั้ยน้อ ถ้าเราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องกระแสเงินสดที่เป็นบวกช่วงแรกไปได้ โดยการที่เรารับ Web Programmer เข้ามาซัก 10 คน, รับ Web Designer เข้ามาซัก 3 คน, รับผู้จัดการเข้ามาอีก 1 คน แล้วใช้ให้พวกเค้าเหล่านั้นผลิต Web Application เจ๋ง ๆ ขึ้นมาซักเว็บนึง โดยที่บริษัทเราจะไม่รับงานผลิตหรือดูแลเว็บไซต์ใด ๆ เลย และี่บริษัทเราจะไม่จ่ายเงินเดือนตลอด 12 เดือนแรกให้พนักงานทั้ง 14 คนเลยแม้แต่บาทเดียว!!!

ป.ล. 1 – คิดได้ ทำไม่ได้
ป.ล. 2 – เห็นหรือยังว่าช่วงแรก “ทุน” เป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ เพราะมันเอาไว้ “จ้าง” คนมาทำงานให้ไง อย่าคิดจะทำอะไรคนเดียวหรือสองคนล่ะ ขาดใจตายแน่ ๆ
ป.ล. 3 – ถ้ายังสร้าง “ระบบ” ที่หมุนเวียน “กระแสเงินสด” ที่เป็นบวกไม่ได้ งานนี้ต่อให้มีโปรแกรมเมอร์อีกเท่าตัว ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้เหมือนกัน

[tags]WEB, Application, ธุรกิจ, การจัดการ, การเติบโต, คอมพิวเตอร์, อินเตอร์เน็ต, ซอฟต์แวร์[/tags]

Related Posts

13 thoughts on “การเติบโตของธุรกิจ Web Application แบบไทย ๆ

  1. เสริมให้นิดหน่อยครับ

    “สูตรสำเร็จที่คนรอบ ๆ ตัวผมมักจะทำกันบ่อย ๆ ก็คือ ตั้งบริษัท Web Application ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่ชำระค่าหุ้นเพียง 25% ของทุนจดทะเบียนซึ่งก็คือ 250,000 บาท ซึ่งถ้าใครเคยอ่านประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็จะรู้ว่ากฎหมายนั้นเปิดช่องให้กระทำได้”

    ในทางปฏิบัติ ไม่ชำระแม้แต่บาทเดียวก็ยังได้ครับ ลมล้วน ๆ

  2. คุณ kim ครับผมเข้าใจถูกรึเปล่า ว่าถ้ายังไม่ก่อหนี้ขึ้นทุนจดทะเบียนเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ ลมนั้นยังคงมีค่า 1 ล้านต่อไป

    ขอเสริมพี่ไท้หน่อยล่ะกัน
    สิ่งแวดล้อมในวงการ Web Application ในบ้านเราแตกต่างจากทางฝั่งอเมริกาและยุโรปมาก ทั้งความร่วมมือของแหล่งเงินทุนและปริมาณของกลุ่มผู้ใช้ คงเป็นการยากที่จะนำโมเดลของฝรั้งมาใช้ คงต้องอาศัยโมเดลแบบ creative and sufficiency model (CSM) คือต้องอาศัยความชอบและไอเดียกำลังความคิดเป็นทุน สร้างความแตกต่างด้วยแนวความคิดที่แปลกไหม่ มีความน่าสนใจถูกใจกลุ่มผู้ใช้
    ยึดหลักความพอเพียงในการผลิต ยังไม่ต้องจ้างใครมีเพียงคุณและเพื่อนๆทีมีความคิดตรงกัน ทำตามกำลังที่มีไม่จำเป็นต้องไหญ่โตแค่ตอบโจทย์ที่คุณวางไว้ได้ก็พอ นำผลผลิตที่ได้เข้าสู่อินเตอร์เน็ต ใช้หลายๆเทคนิคเพื่อทำให้ผลผลิตของเราไปถึงผู้ใช้ให้ได้ (ทุกๆเทคนิคที่มันฟรี)
    แล้วก็รอฟังผลตอบรับของผู้ใช้มาปรับปรุงและพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น รักษาปริมาณกลุ่มผู้ใช้ไว้ให้ได้ หลังจากนั้นมองหาโฆษณาหรือโมเดลทางธรุกิจแบบอื่น
    เพื่อใช้เป็นช่องทางสร้างรายรับเข้ามาสู่เว็บ (อย่างหลังนี้แหละโครตยากเลย)
    พูดง่ายครับแต่ทำจริงๆยาก(*) แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีใครทำสำเร็จอยู่ที่ว่าคุณเริ่มทำแล้วรึยัง

    *ปล.โมเดลนี้เป็นโมเดลที่ผมคิดขึ้นเอง ใครเอาไปใช้แล้วเจ้งผมไม่รับเคลมในทุกกรณี อิอิอิ(เป็นแบบคำเตือนที่ตัวเล็กๆอยู่ด้านล่างของโฆษณาที่ไม่เอาแว่นขยายส่องก็จะมองไม่เห็น)

  3. แล้วทำไมเราไม่ทำ Web Application ของเราให้คนที่อเมริกาใช้ได้ด้วยล่ะครับ ขยายตลาดของเราออกไป โดยทำเว็บให้เป็นสากล รายได้เราก็ไม่จำกัดกับจำนวนประชากรของประเทศไทยอีก

    แต่ผมสนใจเรื่องการจัดตั้งบริษัทด้วยหุ้นลมนี่แฮะ จะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากไหนครับเนี่ย

  4. คุณ memtest+panuta
    “ถ้ายังไม่ก่อหนี้ขึ้นทุนจดทะเบียนเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ ลมนั้นยังคงมีค่า 1 ล้านต่อไป” ถูกต้องครับ แต่ยังไม่หมด
    เพราะหลักคือว่า เราจดทะเบียน 1 ล้าน
    ถ้าเรายังไม่มีทุน เราก็ให้บัญชี ลงว่า
    1 ล้านที่นำมาลงทุน ให้กรรมการกู้ยืมครับ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ว่าไป
    ถ้าเราทำธุรกิจแล้วกำไร ทุนส่วนนี้ ก็ไม่ต้องชำระ (ไม่นับ cashflow)
    แต่ต้องทำลงบัญชีว่า เสียดอกให้บริษัท ซึ่งก็คล้าย ๆ อัฐยายซื้อขนมยาย
    จะมีส่วนต่างก็คือดอกเบี้ยครับ ที่ต้องจ่ายคืน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราคิดดอกเบี้ยตัวเองเท่าไหร่
    detail ลองถามสำนักงานบัญชีครับ ใช้สูตรนี้ทั้งนั้น

  5. อีกนิดครับ คุณ panuta

    “แล้วทำไมเราไม่ทำ Web Application ของเราให้คนที่อเมริกาใช้ได้ด้วยล่ะครับ ขยายตลาดของเราออกไป โดยทำเว็บให้เป็นสากล รายได้เราก็ไม่จำกัดกับจำนวนประชากรของประเทศไทยอีก”

    นี่ไงครับ SaaS ของไทย ขายต่างชาติ
    พี่ไท้เองก็เคยเขียนถึง

  6. ผมว่า Web App ตอนนีเติบโตได้ง่ายนะครับ แล้วจะให้มันสามารถสร้างเงิน ได้ทำไมเราไม่ขาย Component Mall กันดีกว่าไหมครับ ??

    หรือว่า SaaS ช่วงนี้มีคนกล่างถึงบ่อยแต่ผมว่าการพัฒนาใช้ทุนพัฒนาสูงอยู่เหมือนกันนะครับ ถ้าจะออกมาให้ดีเลยจริงๆ

    ผมว่าทำ 2 คนไม่แน่ก็สามารถทำสำเร็จได้นะครับ การพัฒนา Program แบบ XP Programming ผมว่าสามารถทำให้สำเร็จได้จริงๆนะ แต่ใช้ได้ผลกับ Programmer เก่งๆ 2 คนมารวมกัน แล้วจะกลายเป็นผลอันน่าอัศจรรย์จริงๆครับ

  7. พอรู้ข้อมูลมานิดหน่อย ก็ขอเสริม #5 นิดนึงว่า นอกจากลงว่าเสียดอกเบียให้บริษัทแล้ว
    ดอกเบี้ยนั้นก็ถือเป็ยรายได้บริษัท ต้องเอาไปเสียภาษีอีกด้วย
    คือ ถึงตัวเงินไม่ได้ลอยไปลอยมา แค่ตัวเลขลงบัญชีไว้ลอยๆ ก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายได้

    แต่ไม่แน่ใจว่า ถ้าจะคิดดอกเบี้ยตัวเองเป็น 0 จะได้หรือเปล่านะ 😀

    ส่วนที่พี่ไท้เขียนว่า 12 เดือนแรกไม่จ่ายเงินให้พนักงานเลยเนี่ย
    แล้วจะมีคนมาทำให้มั๊ยหนอเนี่ย เหอๆ

  8. คนส่วนใหญ่มักจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยไม่เรียกชำระค่าหุ้นก่อน อย่างที่คุณ kim บอกจริง ๆ นั่นแหล่ะครับ ลมล้วน ๆ

    เมืองไทยเรา ใช้แรงบันดาลใจล้วน ๆ ครับคุณ memtest

    เงินมันเป็นพ่อของพระเจ้าครับคุณ it44 ไม่ใช่พระเจ้าอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจ

    การที่เราจะทำ Web Application ของเราให้คนอเมริกันใช้ได้ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ เข้าใจรู้แจ้งในวัฒนธรรมอเมริกันให้มาก ๆ ครับคุณ panuta นั่นแหล่ะสิ่งแรกเลย เพราะถ้าไม่เข้าใจ ก็คงตั้งโจทย์ไม่ได้ว่าคนอเมริกันนั้น ต้องการอะไรจาก Web Application บ้าง

    สำหรับความคิดเห็นของคุณ kim เรื่องการลงบัญชีว่ากรรมการเป็นลูกหนี้แล้วคิดดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ก็ว่าไปนั้น เป็นสิ่งที่ … อือม … เกรงใจจัง … มัน … ไม่น่าทำครับ เพราะรายการทางบัญชีจะไปปรากฎใน “บัญชีลูกหนี้” อีกทั้งยังไปปรากฎใน “รายงานลูกหนี้ครบกำหนดชำระ” ด้วย ซึ่งที่ปรึกษาทางบัญชีบอกไว้ว่า “ลูกหนี้” เป็นสินทรัพย์สำคัญ จึงต้องมี “บัญชีลูกหนี้” มากำกับ ดังนั้น จะเป็นการดีกว่าถ้าเราลงบัญชี “หุ้นลม” เป็น “ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า” แทนครับ ถือว่าเป็นสินทรัพย์อย่างนึง แต่ไม่ถูกเพ่งมองมากนัก การคำนวณสัดส่วนทางบัญชีก็สะดวก เพราะมันไม่มาเป็น “บัญชีลูกหนี้” จนทำให้คำนวณอัตราส่วนต่าง ๆ อันเกิดจากการประกอบธุรกิจจริง ๆ ผิดพลาดไป

    ว่าแต่ ตกลงคุณ kim นี่เป็นเจ้าของ letsprove ใช่ป่ะครับเนี่ย ^-^ ถ้าใช่ล่ะก็ ขอบอกว่า letsprove.tv เจ๋งมากเลยครับ

    Web Programmer เก่ง ๆ ซัก 4 คนยิ่งดีครับคุณ DominixZ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เก่ง Web แฮะ เพราะตลอดสิบกว่าปี คลุกคลีตีโมงอยู่กับ Win32 Desk App ตลอดเลย T-T มาผิดทาง ไม่น่าเลยเรา

    ถ้าทั้ง 14 คนนั้น คือผู้ลงทุนในบริษัทด้วย “แรงงาน” ตลอด 12 เดือนแรก ย่อมทำได้ครับคุณ iPAtS แต่ถ้าทั้ง 14 คนเป็นลูกจ้างของบริษัท ย่อมทำไม่ได้ครับ T-T

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *