ไม่ทราบว่ามีใครบ้างมั้ยครับที่ไม่รู้จักทฤษฎีเกม? ถ้าอยากรู้จักทฤษฎีเกมให้ลึกซึ้ง ผมขอแนะนำให้ไปบล็อกของท่านสุมาอี้ครับ รายนั้นเป็นกูรูทฤษฎีเกมระดับประเทศไทย ดังนั้นจึงสามารถอธิบายทฤษฎีเกมได้ดีกว่าผมหลายสิบเท่าเชียวแหล่ะ 🙂

สำหรับคนที่ไม่รู้ ขออธิบายอย่างย่นย่อว่า ทฤษฎีเกมเป็นทฤษฎีซึ่งใช้อธิบายผลประโยชน์ครับ ใช้เพื่ออธิบายจุดสมดุลแห่งผลประโยชน์ที่เราพึงจะได้ โดยตัดสินจากการเลือกของเรา และจากการเลือกของอีกฝ่ายหนึ่ง

ผมเห็นว่าเมืองไทยเริ่มมีกระแส Web 2.0 เข้ามามากขึ้น เห็นได้จากการที่ใคร ๆ เริ่มทำเว็บแบบ Web 2.0 ซึ่งนิยามของ Web 2.0 ที่ใคร ๆ ก็รู้ก็คือ การเปิดให้ใคร ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับเว็บได้ โดยการเปิดให้ช่วย ๆ กันสร้างเนื้อหาให้กับเว็บ ซึ่งดู ๆ แล้วมันก็สอดคล้องกับหัวข้อระบบเปิดที่ผมเคยเขียนเอาไว้นานแล้วเหมือนกัน

ทีนี้ผมก็เลยเอาส่วนหนึ่งของทฤษฎีเกมมาใช้ในการอธิบาย Web 2.0 ครับ

ตารางทฤษฎีเกม

จากภาพจะเห็นตารางอธิบายผลประโยชน์ที่จะได้รับระหว่าง “เจ้าของเว็บ” กับ “คุณ”

ผมจะสมมติว่าเจ้าของเว็บสร้างเว็บแบบ social bookmarking แล้วคุณคือใครซักคน ที่อยากจะโปรโมตเว็บหรือบล็อกของตัวเองผ่าน social bookmarking ดังกล่าว

สิ่งที่เจ้าของเว็บจะทำได้ก็คือการ “รับ” หรือ “ไม่รับ” การ bookmarking ของคุณ ในขณะที่สิ่งที่คุณจะทำได้ก็คือการ “สร้าง” หรือ “ไม่สร้าง” bookmarking ของคุณลงไปในเว็บดังกล่าว

จากตารางจะเห็นว่า ถ้ามองในด้านของคุณ จะเป็นดังนี้

  • ถ้าคุณ “สร้าง” เนื้อหา แล้วเจ้าของเว็บยอม “รับ” เนื้อหาของคุณ, คุณก็จะได้ traffic เพิ่ม 10%
  • ถ้าคุณ “สร้าง” เนื้อหา แล้วเจ้าของเว็บ “ไม่รับ” เนื้อหาของคุณ, คุณจะไม่ได้ traffic เพิ่มเลย
  • ถ้าคุณ “ไม่สร้าง” เนื้อหา แล้วเจ้าของเว็บยอม “รับ” เนื้อหาของคุณ, คุณก็จะไม่ได้ traffic เพิ่มอยู่ดี และ
  • ถ้าคุณ “ไม่สร้าง” เนื้อหา แล้วเจ้าของเว็บก็ “ไม่รับ” เนื้อหาของคุณ, คุณยิ่งไม่ได้ traffic เพิ่มไปใหญ่

ทีนี้ลองมองในด้านของเจ้าของเว็บบ้างดีกว่า

  • ถ้าเจ้าของเว็บ “รับ” เนื้อหาของคุณ แล้วคุณก็ “สร้าง” เนื้อหา, เจ้าของเว็บจะได้ traffic เพิ่ม 40%
  • ถ้าเจ้าของเว็บ “รับ” เนื้อหาของคุณ แต่คุณดัน “ไม่สร้าง” เนื้อหา, เจ้าของเว็บก็ยังได้ traffic เพิ่ม 20% อยู่ดี เพราะคุณ “ไม่สร้าง” คนอื่นก็ยัง “สร้าง”
  • ถ้าเจ้าของเว็บ “ไม่รับ” เนื้อหาของคุณ แล้วคุณก็ “สร้าง” เนื้อหา, เจ้าของเว็บก็ไม่สน เพราะยังได้ traffic เพิ่ม 20% จากการที่คนอื่น “สร้าง” เนื้อหา และ
  • ถ้าเจ้าของเว็บ “ไม่รับ” ส่วนคุณก็ “ไม่สร้าง”, เจ้าของเว็บก็ยังได้ traffic เพิ่ม 20% อยู่ดี

ดูจากตารางและก็เงื่อนไขแล้ว จะเห็นว่าจุดที่ผลประโยชน์สูงสุดที่ทั้งสองฝ่ายพึงได้รับก็คือ การที่เจ้าของเว็บเลือกที่จะรับเนื้อหาของคุณ ในขณะที่คุณเองก็ยอมที่จะสร้างเนื้อหาลงในเว็บดังกล่าว

จุดที่เป็นประเด็นก็คือการที่คุณยอมเหนื่อยแรงสร้างเนื้อหาลงในเว็บดังกล่าว แล้วคุณได้รับผลตอบแทนเป็น traffic ที่เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่เจ้าของเว็บยอมรับเนื้อหาของคุณแล้วได้ traffic เพิ่มให้กับเว็บตัวเองถึง 40% … ดูแล้วเหมือนมันไม่ยุติธรรมใช่มั้ย?

อือม มันช่วยไม่ได้แฮะ เพราะโดยหลักของทฤษฎีเกมได้บอกไว้ว่า เราต้องเลือกผลประโยชน์ที่มากที่สุดที่เราพึงได้ โดยไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เราเลือกนั้น จะไปสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้อีกฝ่ายหนึ่งเพียงใดครับ

ป.ล. ถ้าเราไม่อยากเสียเปรียบล่ะก็ วิธีง่าย ๆ ครับ เราก็เป็นเจ้าของเว็บแบบ Web 2.0 ซะเลยไง๊ อิ อิ 😛

[tags]ทฤษฎีเกม, web 2.0, social bookmarking, เว็บไซต์, ระบบเปิด, คอมพิวเตอร์[/tags]

Related Posts

13 thoughts on “ใช้ทฤษฎีเกมอธิบาย Web 2.0

  1. เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกอยากสร้าง Web2.0 สักเวบเลย

    แต่ไมมีความรู้เรื่องระบบภายในเลย T__T

  2. งานนี้ผมขอขโมยซีนนะท่านสุมาอี้ ขอทีนึง 😛

    ท่านสุมาอี้แต่งหนังสือทฤษฎีเกมส์ครับคุณ badzboy สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หาไม่ยาก เพราะแต่งเรื่องนี้อยู่คนเดียว

    ผมว่าถ้าเรื่อง customize ซอฟต์แวร์มาตรฐานล่ะก็ คุณ catkun ก็ไม่น้อยหน้าใครเหมือนกันนา ไปบล็อกคุณ catkun ทีไร มีของเล่นใหม่ทุกที

    traffic ในทางอินเตอร์เน็ต หมายถึงจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ครับคุณ tanakorn

  3. สงสัยครับ ขอสอบถามเพิ่มเติมได้ไหมครับ
    ทำไมผลรวมของ “คุณ” เป็น 10 ในขณะที่ผลรวมของ “เจ้าของเว็บ” เป็น 100 หละครับ
    แล้วทำไม ถึงเลือกการกระจายตัวดังตารางที่ใส่มาครับ 😉

  4. 1. การตัดสินใจผลลัพท์ของทฤษฎีเกมส์ จะไม่ได้ใช้วิธีการรวมตัวเลขครับคุณ TheInk แต่จะใช้วิธีเปรียบเทียบว่า ถ้าอีกฝ่ายเลือกตัวเลือกหนึ่ง แล้วเราเลือกอีกตัวเลือกหนึ่งจากหลาย ๆ ตัวเลือก ตัวเลือกใดที่จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนสูงสุดครับ
    2. ตัวเลขดังกล่าวที่กระจายในตาราง ใช้ประสบการณ์คะเนขึ้นมาครับ เราสามารถเปลี่ยนตัวเลขได้ หรือเปลี่ยนหน่วยของมันก็ได้ครับ

  5. สงครามย่อยๆ ที่ตะวันออกกลางซึ่งอิสราเอลได้ทิ้งระเบิดถล่มเลบานอน หรือการที่เกาหลีเหนือซ้อมยิงขีปนาวุธเขย่าขวัญญี่ปุ่น หรืออเมริกาจะตัดสินใจ คว่ำบาตรอิหร่าน ล้วนเป็นการตัดสินใจ ที่อิงกับการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ที่ชื่อว่า “ทฤษฎีเกม” หรือ “Game Theory” เป็นอย่างมาก

    ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยสงสัยว่า การตัดสินใจทำอะไรลงไปซักอย่าง ของเราในชีวิตประจำวัน ของผู้บริหารต่างๆ หรือของมหาอำนาจแบบอเมริกา หรือรัสเซีย หรือจีน ทำไมจึงจำเป็นต้อง มีทฤษฎีอะไร มากำหนดกระบวนการตัดสินใจด้วย จริงๆ แล้วกระบวนการตัดสินใจ ที่ไม่ซับซ้อนมันได้อยู่ใน Common Sense ของเราอยู่แล้ว แต่ในบางสถานการณ์ที่มีความสลับซับซ้อน ทฤษฎีเกม หรือ Game Theory จะเป็นกระบวนการที่มาช่วยวิเคราะห์ เรียบเรียง และทำให้การตัดสินใจดีขึ้น และแม่นยำ โดยเฉพาะประเทศที่ศัตรูเยอะ และการตัดสินใจที่มีผลกับความเป็นไปของโลก เช่น สหรัฐอเมริกาได้มีการศึกษา และวิจัยทฤษฎีเกม กันอย่างจริงจังในระดับชาติ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจ ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง ให้มากที่สุด

    นอกจากการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกม ในการวิเคราะห์การตลาด และเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว
    ทฤษฎีเกม เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงมาก แม้ว่าจะเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ถูกคิดค้นขึ้นมาครั้งแรก ร่วมกันโดย นักคณิตศาสตร์ ชื่อ Von Neumann และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Oskar Morgenstern ในปี 1944

    จนอีก 50 ปีต่อมา (ปี 1994) ทฤษฎีเกมมาโด่งดังอีกครั้ง เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นศาสตราจารย์ ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ จอห์น เอฟ. แนช (John F. Nash) ซึ่งมีโรคประจำตัวคือโรคจิตเภท ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์อีกสองท่าน ในด้านทฤษฎีเกี่ยวกับ Non-Cooperative Games ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยได้ชมภาพยนต์เรื่อง Beautiful Mind กันมาแล้ว ซึ่งเป็นภาพยนต์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ จอห์น เอฟ. แนช ดังกล่าว

    อย่างไรก็ตามทฤษฎีเกม มีความสลับซับซ้อนมาก การถ่ายทอดทฤษฎีเกม จึงทำได้ค่อนข้างลำบาก อย่างไรก็ตาม ผมได้พยายามอธิบาย ในบทความนี้ดังต่อไปนี้…..

    หน้าที่ 2 – การใช้งาน Game Theory
    เจ้าของงานเขียน แก้ไขหน้านี้ ได้ที่นี่
    ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์
    CEO, Hroyy Inc.
    อาจารย์พิเศษ MBA จุฬาฯ และ วิทยาลัยนวัตกรรมการศึกษา ม.ธ.
    นักเขียนประจำ วิชาการ.คอม

    หลักการพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ จะสมมติว่า ตลาดสินค้า มีการแข่งขันกันอย่างเสรี เพราะมีจำนวนผู้ซื้อ และผู้ขายมากราย (เข้าสู่ Infinity) รวมทั้งมีข้อมูลครบถ้วน ที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขาย สามารถตัดสินใจซื้อ – ขาย ได้ในกรอบของความแน่นอน และไม่ต้องคำนึงถึงว่า ผู้ซื้อ – ผู้ขายคนอื่นๆ จะตัดสินใจอย่างไร เพราะการตัดสินใจ หรือการกระทำใดๆ จะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ท่ามกลางข้อมูลที่โปร่งใส และถูกต้อง

    ซึ่งจะแตกต่างจากการเล่นเกม เช่น หมากรุก ที่ผู้เล่นต้องกำหนดกลยุทธ์ในการเล่น และต้องคาดเดาพฤติกรรมการเดิน และการตัดสินใจ ของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม หรือการจีบสาว ที่ชายหนุ่มจะต้องเดาพฤติกรรม และการตอบสนองของสาวเจ้า รวมไปถึงคู่แข่งด้วย

    ตัวอย่างง่ายๆ ที่ใช้อธิบายทฤษฎีเกม

    คือในกรณีที่มีคนร้ายสองคน ถูกตำรวจจับได้ และมีหลักฐานการทำความผิดในระดับหนึ่ง ที่สามารถสั่งจำคุกได้ แต่ยังไม่สามารถระบุความผิด ของทั้งสองคนได้ ดังนั้นตำรวจจึงแยกกันสอบสวน และให้โอกาสสารภาพ และซัดทอดซึ่งกันและกัน โดยตั้งเกณฑ์ไว้ว่า หาก นาย ก สารภาพและซัดทอด นาย ข แต่ นาย ข ไม่สารภาพและไม่ซัดทอด นาย ก แล้ว นาย ก จะได้เข้าคุก 2 ปี และนาย ข จะถูกจำคุกนาน 10 ปี ทั้งนี้โทษจำคุก ก็จะกลับกันหาก นาย ข สารภาพและซัดทอด นาย ก โดยนาย ก ไม่ปริปากใดๆ แต่หากทั้งสองคนไม่ยอมให้การใดๆ ที่มีประโยชน์ ตำรวจจะทำได้เพียงจำคุกทั้งคู่คนละ 1 ปี แต่หากทั้งสองคน ปรักปรำซึ่งกันและกันก็จะถูกจำคุกคนละ 5 ปี

    หากท่านเป็น นาย ก ท่านจะทำอย่างไร ?

    จากโจทย์ข้างต้น เราสามารถตีตารางเพื่อวิเคราะห์ พฤติกรรมได้ดังนี้

    นาย ข
    สารภาพและซัดทอด ไม่ปริปาก
    นาย ก สารภาพและซัดทอด (5,5) (2,10)
    ไม่ปริปาก (10,2) (1,1)

    ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนปีที่ติดคุก ตัวเลขแรกในวงเล็บคือตัวเลขของ นาย ก และตัวเลขหลังของ นาย ข
    จะเห็นได้ว่า ทั้งนาย ก และ นาย ข ควรจะร่วมมือกัน โดยไม่ปริปากใดๆ เพื่อให้ทั้งสองได้รับโทษสถานเบาคือ (1,1) แต่ในความเป็นจริง ด้วยความกลัวที่จะถูกอีกคนหนึ่งทรยศ โดยการปรักปรำ ทำให้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งทำให้ติดคุกคนละ 5 ปี (5,5) พฤติกรรมที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่จุดที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากตำรวจจับแยกห้องขัง ทำให้คนร้ายทั้งสองไม่สามารถร่วมมือกัน หรือแจ้งข้อมูลซึ่งกันและกันได้ ซึ่งต่างจากตลาดสินค้าเสรี ที่ผู้เล่นทุกฝ่ายมีข้อมูลครบถ้วน ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหากคนร้ายทั้งสอง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน จะทำให้ทั้งคู่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ (1,1)

    ตัวอย่างข้างต้นเป็นเกมขั้นพื้นฐาน ที่มีผู้เล่นเพียงสองคน แต่ก็สามารถสรุปได้ว่า มนุษย์ที่มักจะต้องการความเสี่ยงน้อยที่สุด จะเลือกแนวทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย กับตนเองน้อยที่สุด ในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายน้อยที่สุด สำหรับในกรณีตัวอย่างข้างต้นนั้น สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ การถูกเพื่อนซัดทอด จึงต้องเลือกระหว่างติดคุก 10 ปี หรือติดคุก 5 ปี จึงต้องเลือกสารภาพ และซัดทอดให้เพื่อน เพื่อให้ตัวเองติดคุกเพียง 5 ปี

    หรือในอีกกรณีที่มีข่าวดังในบ้านเรา และศาลท่านไม่อนุญาติให้ละเมิดอำนาจศาล โดยการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสิน แต่ศาลท่านได้กรุณาอนุญาต ให้ทำการวิเคราะห์ และอธิบายในเชิงวิชาการได้ ซึ่งผมคงไม่กล่าวถึงในจุดนั้น แต่จะขอย้อนกลับไป ถึงการวิเคราะห์การตัดสินใจของ กลุ่ม ก2ต และ พรรคเก่า ว่าทำไมผลลัพธ์จึงออกมาเช่นนี้ โดยใช้ทฤษฎีเกม ดังนี้…..

    หน้าที่ 3 – ทฤษฎีเกม อธิบายปรากฎการณ์ที่ยุ่งเหยิง
    เจ้าของงานเขียน แก้ไขหน้านี้ ได้ที่นี่
    ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์
    CEO, Hroyy Inc.
    อาจารย์พิเศษ MBA จุฬาฯ และ วิทยาลัยนวัตกรรมการศึกษา ม.ธ.
    นักเขียนประจำ วิชาการ.คอม

    หรือในอีกกรณีที่มีข่าวดังในบ้านเรา และศาลท่านไม่อนุญาติให้ละเมิดอำนาจศาล โดยการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสิน แต่ศาลท่านได้กรุณาอนุญาต ให้ทำการวิเคราะห์ และอธิบายในเชิงวิชาการได้ ซึ่งผมคงไม่กล่าวถึงในจุดนั้น แต่จะขอย้อนกลับไป ถึงการวิเคราะห์การตัดสินใจของ กลุ่ม ก2ต และ พรรคเก่า ว่าทำไมผลลัพธ์จึงออกมาเช่นนี้ โดยใช้ทฤษฎีเกม ดังนี้

    หลังจากที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายในบ้านเรา พรรคเก่าแก่ ได้ประกาศว่า กลุ่ม ก2ต ได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และให้ กลุ่ม ก2ต ลาออกเสีย มิฉะนั้นแล้วจะส่งเรื่องฟ้องศาล ให้มีความผิดทางอาญา ซึ่งกลุ่ม ก2ต เชื่อมั่นว่า ตนเองได้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และไม่มีความผิด และมีความชอบธรรมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อ

    ซึ่งหากท่านเป็น กลุ่ม ก2ต และพรรคเก่าแก่ ท่านจะตัดสินใจอย่างไร ?

    เราจะใช้ทฤษฎีเกมวิเคราะห์ ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นแบบ Sequential Move คือมีคนใดคนหนึ่งตัดสินใจก่อน ในกรณีนี้ กลุ่ม ก2ต จะเป็นผู้ตัดสินใจก่อน โดยเราต้องเขียนตารางคะแนนประโยชน์ อันเกิดมาจากการตัดสินใจ ในมุมมองของทั้งสองฝ่าย โดยกรณีที่มีคะแนนมาก หมายถึงได้ประโยชน์กับตนเองมากกว่า ดังต่อไปนี้

    มุมมองของ กลุ่ม ก2ต

    การตัดสินใจของ ก2ต

    การตัดสินใจของพรรคเก่าแก่

    คะแนน

    1

    ไม่ลาออก

    ไม่ฟ้องร้อง

    4

    2

    ไม่ลาออก

    ฟ้องร้อง

    3

    3

    ลาออก

    ไม่ฟ้องร้อง

    2

    4

    ลาออก

    ฟ้องร้อง

    1

    มุมมองของพรรคเก่าแก่

    สถานการณ์

    การตัดสินใจของ ก2ต

    การตัดสินใจของพรรคเก่าแก่

    คะแนน

    1

    ลาออก

    ไม่ฟ้องร้อง

    4

    2

    ไม่ลาออก

    ฟ้องร้อง

    3

    3

    ไม่ลาออก

    ไม่ฟ้องร้อง

    2

    4

    ลาออก

    ฟ้องร้อง

    1

    จากตารางข้างต้น เรามาเขียนแผนภาพ Decision Tree ของกรณีทั้งสองได้ดังนี้

    โดยตัวเลขในวงเล็บตัวแรกคือคะแนนของ กลุ่ม ก2ต และตัวหลังคือคะแนนของพรรคเก่าแก่ จากแผนภาพข้างต้น กลุ่ม ก2ต จะต้องเลือกไม่ลาออกแน่นอน เพราะมีประโยชน์กับตนเองมากกว่า และไม่เสียศักดิ์ศรี โดยเชื่อมั่นในความชอบธรรมของตนเอง จะเห็นว่าได้คะแนน ไม่ 3 ก็ 4

    เมื่อ กลุ่ม ก2ต ตัดสินใจไม่ลาออกแล้ว ก็ถึงตาพรรคเก่าแก่ต้องตัดสินใจบ้าง ทีนี้พรรคเก่าแก่ ก็จะต้องเลือกการตัดสินใจที่ตัวเอง ได้คะแนนสูงสุดเหมือนกัน หลังจากที่กลุ่ม ก2ต ตัดสินใจไม่ลาออก จากแผนภาพข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าพรรคเก่าแก่ต้องเลือกฟ้องร้องแน่นอน เพราะว่าได้คะแนน 3 ซึ่งมากกว่า 1 คือไม่ฟ้องร้อง ผลลัพธ์จึงออกมา ดังเช่นที่เราทราบข่าวกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ คือ ก2ต ถูกพรรคเก่าแก่ฟ้องร้อง จุด (3,1) ในแผนภาพข้างต้นเราเรียกว่า จุดดุลยภาพ

    จากกรณีดังกล่าวข้างต้นทั้งสองกรณี มีผู้เล่นเพียงสองฝ่ายเท่านั้น แต่ Thesis ปริญญาเอกของ จอห์น แนช ที่เขียนขึ้นสมัยเรียน ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เมื่ออายุเพียง 25 ปีนั้น ได้พัฒนาทฤษฎีเกม โดยแยกแยะกรณี ที่ผู้เล่นสามารถร่วมมือกัน เพราะสามารถทำความตกลงระหว่างกันได้ กับกรณีที่ผู้เล่นไม่สามารถร่วมมือกัน เพราะไม่สามารถ หรือไม่ควรทำข้อตกลงระหว่างกันได้ เช่น ในกรณีของการแข่งขันในตลาดที่มีผู้ผลิตน้อยราย ที่ไม่ต้องการทำสัญญาฮั้วกันระหว่างผู้ผลิต

    ทฤษฎีของ จอห์น แนช มีความสำคัญ เพราะเขาได้พิสูจน์ว่า เกม ที่ไม่มีการร่วมมือระหว่างผู้เล่นหลายคนนั้น จะสามารถดำเนินไปสู่จุดดุลยภาพ (Nash Equilibrium) ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในบางกรณีจะมีจุดดุลภาพหลายจุด เช่น เป่ายิ๊งฉุบ แต่การค้นคว้าพบว่า เราสามารถหาจุดดุลภาพได้ และมีจุดดุลยภาพจำนวนจำกัด

    ซึ่งทำให้เราสามารถวิเคราะห์ คาดการณ์ผลลัพธ์ ที่จะเกิดขึ้น ว่ามีความเป็นไปได้ในลักษณะใดได้บ้าง
    ทฤษฎีเกมของ จอห์น แนช ได้กลายเป็นเครื่องมือหลัก ในการศึกษาวิเคราะห์การแข่งขันระหว่างผู้ผลิต และการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรม และในบางกรณีก็ถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนนโยบายทางด้านการเมืองต่างๆ รวมไปถึงการจะยิงขีปนาวุธ ของประเทศมหาอำนาจ

    ทฤษฎีเกมนั้นมีความสลับซับซ้อนมาก เพราะการกระทำ หรือกลยุทธ์ของผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคน จะมีผลกระทบต่อผู้เล่นคนอื่นๆ ในระบบ ทำให้เกิดการปรับตัวไปสู่อีกภาวะหนึ่ง โดยอาจจะทำให้เกิด การตอบโต้จากคู่แข่ง ที่อาจจะไม่มีสุดสิ้นสุด ดังนั้นการที่ จอห์น แนช สามารถใช้ทฤษฎีเกม อธิบายว่าปรากฎการณ์ไม่ว่าจะยุ่งเหยิงเพียงใด ย่อมจะสามารถนำไปสู่จุดดุลยถาพได้ จึงได้กลายเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมาถึงทุกวันนี้ เหมาะสมกับรางวัลโนเบลที่ได้รับเป็นยิ่งนัก

    ที่มา: ทฤษฎีเกม (Game Theory) ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ชี้ชะตาโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *