อัลกอริทึมสำหรับจำแนกพลอยสี

ผมจบวิทย์คอมครับ จบทั้งปอตรีและปอโทเลย แต่ผมกลับเลือกเปิดบริษัทค้าขายเครื่องประดับ ไม่ได้เปิดบริษัทคอมพิวเตอร์หรือบริษัทไอทีอย่างที่ควรจะเป็น!!!

อะไรคือเหตุผล?

อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวเลย ผมไม่ชอบงานรับจ้างทำงาน ตลอดชีวิตก็รับจ้างทำงานเป็นพนักงานอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าออกมาเปิดบริษัท ผมก็หวังว่าผมจะหันมาเอาดีทางด้านค้าขายบ้าง

เราต้องทราบความจริงก่อนว่า ถ้าเราเก่งคอมพิวเตอร์ เก่งมาก ๆ การทำมาหากินที่ดีที่สุด คือรับจ้างทำงานด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่เขาทำไม่เป็น เพราะต้นทุนในการทำกิจการของเราจะต่ำมาก มันคือการใช้ความรู้ที่มีเพื่อทำงาน ไม่ต้องกักตุนสินค้า ไม่ต้องมีต้นทุนขาย ไม่ต้องมีงบโฆษณา

เมืองไทยเรามีกิจการทางคอมพิวเตอร์หรือไอทีไม่มากนัก ที่สามารถผลักดันตนเองจนไม่ต้องรับจ้างทำงาน แล้วสามารถคิดค้นพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อขายให้กับลูกค้าได้

อีกอย่างหนึ่ง อันนี้จากประสบการณ์เลยก็คือ การพัฒนาทางไอทีหรือคอมพิวเตอร์เพื่อให้มันมีเทคโนโลยีที่สูงส่งขึ้นเรื่อย ๆ มันมีต้นทุนที่สูง สูงกว่าการเอาไอทีหรือคอมพิวเตอร์ไปพัฒนาด้านอื่น

นี่จึงเป็นที่มาของความคิดของผม ที่คิดว่า ผมน่าจะเอาความรู้ทางคอมพิวเตอร์ มาพัฒนาด้านเครื่องประดับบ้าง เพราะวงการด้านนี้ยังไม่ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์เท่าไหร่นัก

ที่ผ่านมา ได้มีการนำเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์มาใช้ในวงการเครื่องประดับอยู่บ้าง ได้แก่ การคิดค้นพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยออกแบบเครื่องประดับในรูปแบบ 3 มิติ การประยุกต์เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อการพิมพ์แบบขี้ผึ้งของเครื่องประดับ หรือการคิดค้นเครื่องจักรตัดแต่งชิ้นงานด้วยแสงเลเซอร์ซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์

แต่งานทางด้านปัญญาประดิษฐ์กลับยังไม่ก้าวหน้ามากนักในวงการเครื่องประดับ ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่ายังมีปัญหาหลาย ๆ อย่างในวงการเครื่องประดับที่น่าจะแก้ไขได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์

ทีนี้ก็ต้องมาเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เครื่องประดับจริง ๆ แล้วประกอบด้วยวัสดุ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ตัวเรือน กับ อัญมณี ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรือนเป็นโลหะมีค่าที่มีเปอร์เซ็นต์โลหะถูกต้อง ในขณะเดียวกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอัญมณีที่ประดับอยู่เป็นชนิดใดและเป็นของแท้หรือเปล่า

ส่วนตัวผม ผมไม่สนใจปัญหาเรื่องตัวเรือน เพราะมันมีวิธีตรวจที่ไม่ยากมากนัก ผมจึงหันมาสนใจในปัญหาของอัญมณีที่ประดับแทน

คนส่วนใหญ่มักไม่รู้จักชนิดของอัญมณี อาจจะรู้คร่าว ๆ ว่าจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ เพชร และ พลอย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะรู้จักชนิดของพลอยไม่เยอะ คืออาจจะรู้จักแต่ตัวดัง ๆ เช่น ทับทิม ไพลิน บุษราคัม หรือ มรกต เป็นต้น (ความจริงแล้วพลอยมีถึง 16 ตระกูลใหญ่ และมีชื่อเรียกมากมาย) อีกทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าเป็นของแท้หรือของปลอม

ว่ากันตามจริงแล้ว ผมเองก็เรียนวิชา “จำแนกพลอยสี” มาเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเป็นตัวผม หมายถึงตัวผมเองอ่ะนะ ผมจะสามารถตรวจสอบได้ โดยใช้ความชำนาญที่มี บวกกับเครื่องมือเฉพาะอีกสองสามอย่าง ก็สามารถบอกได้แล้วว่าพลอยชนิดนั้นเป็นชนิดใด และเป็นของแท้หรือของเทียม

แต่ความรู้แบบนี้ หมายถึงความรู้ในการจำแนกพลอยสี มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มันเป็นเรื่องของความชำนาญ ซึ่งถ้าไม่อยากให้มันเป็นเพียงเรื่องเฉพาะบุคคล เราก็ต้องเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เราต้องมอบความรู้ให้คอมพิวเตอร์ เราต้องสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยจำแนก และเบื้องหลังของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันก็ต้องมี “อัลกอริทึม” เป็นตัวผลักดัน

ปัจจุบัน ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ได้ก้าวหน้าไปมาก แขนงวิชาปัญญาประดิษฐ์ที่จะเอามาประยุกต์ใช้ในเรื่องนี้ได้ คือ แขนงวิชาเครื่องจักรเรียนรู้ (Machine Learning) แขนงวิชาการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) และแขนงวิชาการประมวลผลภาพ (Image Processing)

วิธีการก็เข้าใจได้ไม่ยากนัก นั่นคือ การให้คอมพิวเตอร์ “สกัดคุณลักษณะเด่น” ของข้อมูลออกมา ข้อมูลในที่นี้ก็คงต้องเป็นรูปภาพ รูปภาพหนึ่งรูปสามารถแทนคำได้เป็นล้านคำ ดังนั้น ข้อมูลนำเข้าที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นรูปภาพของพลอยที่ต้องการหาคำตอบ โดยคุณลักษณะเด่นที่สกัดได้จากรูปภาพพลอย ก็นำมาทำความสะอาด เกลี่ยข้อมูลให้เท่ากัน จากนั้นก็เอาไปจำแนก แล้วก็ให้คอมพิวเตอร์บอกคำตอบออกมา ว่าเป็นพลอยชนิดใด เอาแค่นี้ก่อนว่าเป็นพลอยชนิดใด ยังไม่ต้องบอกว่าเป็นพลอยแท้หรือพลอยเทียม เพราะตรงนั้น ณ นาทีนี้ คอมพิวเตอร์ยังทำไม่ได้

ดังนั้น จุดสำคัญของงานนี้คือการคิดค้นอัลกอริทึมในการ “สกัดคุณลักษณะเด่น” ส่วนจุดสำคัญรองลงมาคือการสะสมรูปถ่ายพลอยที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในขั้นตอนการ “สกัดคุณลักษณะ” เพื่อเรียนรู้ และจุดสำคัญสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะชี้วัดได้ในขั้นตอนเรียนรู้ ว่าคำตอบที่จำแนกได้ถูกต้องหรือเปล่า เพื่อจะได้ป้อนกลับให้ระบบได้เรียนรู้ ได้ปรับค่าการจำแนก และทำนายได้อย่างแม่นยำต่อไป

คุณ Andrew Ng ซึ่งเก่งมากทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เขาเคยบอกอยู่อย่างหนึ่งซึ่งผมก็เห็นตรงกัน นั่นก็คือ ตอนนี้เปเปอร์งานวิจัยทฤษฎีทางด้านปัญญาประดิษฐ์มีมากพอแล้ว ให้เพลา ๆ มือกันหน่อย แล้วหันไปสร้างของเจ๋ง ๆ ขึ้นมาด้วยทฤษฎีที่ตอนนี้มีอยู่เยอะแยะแทน

และตอนนี้ ผมก็กำลังทำตามแนวทางนี้อยู่เหมือนกัน!!!

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *