วิธีทำให้คอมพิวเตอร์คิดเองได้

ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์มันยังคิดเองไม่ได้นะครับ ขอบอกไว้ก่อนตรงนี้เลยว่ามันยังคิดเองไม่ได้ สิ่งที่มันทำได้คือการเรียนรู้จากข้อมูลที่ถูกเฉลยเอาไว้ก่อนแล้ว จากนั้นเมื่อมีข้อมูลใหม่ถูกป้อนเข้ามาเพื่อขอคำตอบ มันก็จะนำเอาสิ่งที่มันเคยเรียนรู้ซึ่งเคยถูกเฉลยเอาไว้ มาทบทวนเพื่อทำนายว่าข้อมูลใหม่ควรจะเฉลยคำตอบว่ายังไง และคำตอบควรจะเป็นยังไง โดยผู้ที่เฉลยคำตอบให้กับคอมพิวเตอร์ในขั้นตอนการเรียนรู้ ก็คือมนุษย์เราเนี่ยแหล่ะ!!!

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้คอมพิวเตอร์แยกแยะได้ระหว่าง ส้ม กับ แอปเปิ้ล เราก็จะเอาข้อมูลคุณสมบัติของส้มซัก 20 ลูก พร้อมทั้งเฉลยว่าคุณสมบัติเหล่านั้นคือส้ม และเอาข้อมูลคุณสมบัติของแอปเปิ้ลซัก 20 ลูก พร้อมทั้งเฉลยว่าคุณสมบัติเหล่านั้นคือแอปเปิ้ล ป้อนเข้าไปให้คอมพิวเตอร์มันเรียนรู้ มันก็จะพยายามทบทวนของมันไป จนมันได้อะไรซักอย่างนึงออกมาเพื่อจะบอกว่ามันเรียนรู้ได้ล่ะ จากนั้นเราก็ลองพิสูจน์ดูว่ามันแยกแยะได้จริงหรือเปล่า โดยการป้อนคุณสมบัติของส้มหรือแอปเปิ้ลเข้าไปให้มัน ดูซิว่ามันจะตอบว่าเป็นผลอะไร ถ้ามันตอบถูกแสดงว่ามันแม่น ถ้าตอบผิดแสดงว่ามันไม่แม่น เป็นต้น

โดยวิธีการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์จากข้อมูลที่มีการเฉลยไว้ก่อน เพื่อทำนายคำตอบของข้อมูลใหม่ที่ป้อนให้กับคอมพิวเตอร์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ครับ คือ

แบบที่หนึ่ง มองว่าข้อมูลที่ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้พร้อมกับผลเฉลย เป็นเหมือนสารานุกรม ดังนั้น ทุกครั้งที่มีข้อมูลใหม่ป้อนให้กับคอมพิวเตอร์เพื่อขอคำตอบ คอมพิวเตอร์ก็จะย้อนกลับไปเปิดสารานุกรมที่ว่า เพื่อเทียบความคล้ายของข้อมูล จากนั้นเมื่อพบว่าข้อมูลใหม่คล้ายข้อมูลที่เคยเรียนชุดไหนมากที่สุด ก็จะเอาผลเฉลยของข้อมูลที่เคยเรียน (ก็ไอ้ตัวที่ว่าคล้ายที่สุดนั่นแหล่ะ) มาเป็นคำตอบ ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการทำข้อสอบแบบเปิดตำรานั่นแหล่ะครับ ข้อสอบส่วนใหญ่ก็ประยุกต์จากเนื้อหาในตำรานั่นแหล่ะ เพียงแต่มันไม่เป๊ะ ๆ เท่านั้นเอง

แบบที่สอง มองว่าคอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลที่เคยเรียนรู้พร้อมกับผลเฉลยในรูปแบบของสารานุกรม ที่จะต้องเสียเวลามาพลิก ๆ เทียบ ๆ ทุกครั้งที่มีข้อมูลใหม่ป้อนเข้ามาเพื่อขอคำตอบ แต่ให้ใช้วิธีผนึกการกะประมาณผลเฉลยเข้าไปในอะไรซักอย่างนึงแทน ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลใหม่ป้อนเข้ามาเพื่อขอคำตอบ ก็ใช้การกะประมาณผลเฉลยที่ผนึกเอาไว้ เป็นตัวกลั่นกรองหาผลเฉลยของคำตอบไปเลย ถ้าให้ยกตัวอย่างก็คงเหมือนกับแทนที่เราจะทำข้อสอบแบบเปิดตำรา ก็เปลี่ยนเป็นแบบปิดตำรา ซึ่งก็หมายความว่าตัวผู้ทำข้อสอบ จะต้องท่องหนังสือสอบเข้าไปในสมองตัวเองนั่นเอง

โดยปรกติแล้ว การทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้จากผลเฉลย เพื่อทำให้มันสามารถให้คำตอบกับข้อมูลใหม่ ๆ ได้ ยังไม่ถือว่าเป็นการทำให้คอมพิวเตอร์คิดเองได้ มันยังห่างไกลกับนิยามนั้นอยู่ และถึงแม้ว่าเราจะพยายามยกระดับให้กับมัน โดยการให้มันนำข้อมูลใหม่ที่ถูกเฉลยแล้วด้วยตัวมันเอง ป้อนกลับไปให้ตัวมันเองเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มันมีสารานุกรมส่วนตัวที่ทันสมัยขึ้น หรือให้มันมีการกะประมาณผลเฉลยที่เจนจัดมากขึ้น ก็ยังไม่ถือว่าคอมพิวเตอร์มันคิดเองได้อยู่ดี

เพราะทุกวันนี้การให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ผลเฉลย ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ เรายังไม่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้เป็นลำดับขั้นตอนที่หลากหลาย เหมือนกับการเรียนรู้ของเด็กทารกที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ เรายังไม่สามารถสร้างสารานุกรมแบบบูรณการ หรือวิธีการกะประมาณผลเฉลยแบบบูรณการ เพื่อส่งมอบให้คอมพิวเตอร์ใช้เรียนรู้ได้ ดังนั้น ความวิตกกังวลเรื่องเครื่องจักรครองโลก คงต้องรอไปอีกอย่างน้อยหลายสิบปี กว่าเวลานั้นจะมาถึงครับ

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *