รูปแบบของธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ในเมืองไทย

พวกเราอาจจะสังเกตุเห็นว่า ในขณะที่บริษัทสร้างซอฟต์แวร์หลายแหล่งของสหรัฐอเมริกาสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ออกมามากมาย ธุรกิจซอฟต์แวร์ก็เฟื่องฟู หันไปมองที่เกาหลีซึ่งมีบอร์ดแบนด์ที่ใหญ่โต พวกเขาก็ก้าวหน้าทางด้านเกมส์ออนไลน์และบริการออนไลน์ พอมองไปที่อินเดียซึ่งมีบังกาลอร์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่นั่นก็มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ฝีมือดี ราคาถูก รับงานจากทั่วโลก มีชื่อเสียงไปทั่ว

ทีนี้หันกลับมามองเมืองไทยเราบ้างครับ ว่าธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ของเราไปถึงไหนแล้ว?

ที่จะตอบได้ก็คือ เมืองไทยเรากำลังเติบโตอย่างเชื่องช้าทางด้านธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ครับ สาเหตุมีหลายสาเหตุ เกิดจากหลายมิติทั้งทางรัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีสาเหตุหลักดังต่อไปนี้

  • กลุ่มทุนไม่ให้ความสนใจกับธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ สาเหตุนี้เป็นเพราะกลุ่มทุนไทยหยิบโหย่งครับ ชอบธุรกิจที่ให้กำไรต่อหน่วยสูง ต้นทุนต่ำ จึงไม่ให้ความสนใจธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะมันต้องมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนา และค่าแรงนักพัฒนาที่ต่อให้กดราคายังไง ก็ยังสูงกว่าพนักงานทั่วไปอยู่ดี
  • นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยหลงไหลอยู่กับเครื่องมือที่ตนเองใช้ ฝักใฝ่ที่จะศึกษาแต่เครื่องมือเพียงอย่างเดียว จนไม่ได้ต่อยอดทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์อื่น ๆ ตัวอย่างนี้เห็นได้จากการที่มีสมาชิกในเว๊ปบอร์ดทะเลาะเบาะแว้งกันว่า Visual Basic ดีกว่า Delphi หรือ Java ดีกว่า Visual C# เป็นต้น
  • นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยถูกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมบีบบังคับ ให้ต้องละทิ้งทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพียงเพราะถ้าอยากจะมีความก้าวหน้า, เงินเดือนมากขึ้น และตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ต้องละทิ้งทักษะเดิม เพื่อไปศึกษาทักษะใหม่แทน อันนี้ดูได้จากบริษัทเอกชนทั่วไป ที่ Programmer ต้องถูกเลื่อนไปเป็น System Analyst จึงจะได้เงินเดือนมากขึ้น ไม่งั้นก็จะต๊อกต๋อยอยู่อย่างนั้นจนวันตายยยยย ทำให้เมืองไทยเราขาดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความรู้, ทักษะ และประสบการณ์แน่นปึ้กไป เรียกว่าขาดการต่อยอดบุคลากรบุคคลนั่นเอง

ดังนั้นจากสาเหตุข้างต้น ทำให้ธุรกิจที่หากินกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือให้บริการทางซอฟต์แวร์ ซึ่งมีปัญหากับเงินทุนสนับสนุนของกลุ่มทุน, มีปัญหากับบุคลากรที่พอเก่งแล้วก็เลื่อนตำแหน่งไปทำอย่างอื่น ต้องดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจของตนเองมีกระแสเงินสดที่เป็นบวก เพื่อให้ตนเองอยู่รอด จนธุรกิจเหล่านั้นกลายพันธุ์และตกผลึกจนพอจะแบ่งประเภทได้ดังนี้

  • ธุรกิจผลิต Software Package เป็นธุรกิจของบริษัทที่ขายซอฟต์แวร์ที่ตนเองพัฒนาขึ้น ซอฟต์แวร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นซอฟต์แวร์เฉพาะอย่าง พวกเราอาจจะได้เห็นกันบ่อย ๆ กับซอฟต์แวร์ประเภทนี้ ยกตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์บัญชีขนาดเล็ก+กลาง, ซอฟต์แวร์พิมพ์ Banner + Label, ซอฟต์แวร์คำนวณภาษี, ซอฟต์แวร์พิมพ์ใบกำกับภาษี ฯลฯ ลักษณะเด่นของธุรกิจนี้คือทำเป็นกล่อง ๆ มาขาย, กำหนดราคาตายตัว และหวังว่าจะไม่มีใครมาก๊อปไปใช้ฟรี ๆ
  • ธุรกิจผลิต Software แบบ Turnkey บริษัทที่ทำธุรกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะสร้างซอฟต์แวร์ชุดหลักของตัวเองไว้ เหมือนเป็น Core Engine จากนั้นก็ส่ง Sale Engineer ออกไปตามบริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่พอจะมีศักยภาพที่จะเป็นลูกค้า หรือถ้าไม่อย่างนั้น ก็จะไปเมียงมองที่หน่วยงานราชการ ว่ามีการประกวดราคาบ้างหรือเปล่า เพื่อตนเองจะได้ไปเปิดซองประกวดราคาแข่งด้วยบ้าง เมื่อได้งานมาแล้วจึงค่อยเก็บความต้องการเพิ่มเติมของลูกค้า แล้วนำเอา Core Engine ที่มีอยู่มาสร้างต่อยอด แล้วขายให้ลูกค้าเป็นราย ๆ ไป ตัวอย่างของธุรกิจแบบนี้มีเยอะแยะจาระไนไม่หมด และคิดว่าเป็นรูปแบบธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยเลยก็ว่าได้ เข้าทำนองรับจ้างทำของนั่นเอง
  • ธุรกิจ Consult Software จริง ๆ แล้ว Consult มีความหมายว่าให้คำปรึกษานะครับ แต่ความจริงบริษัทที่บอกว่าตนเองเป็น Consult ก็ไม่ได้แค่ให้คำปรึกษาหรอกครับ แต่พวกเขามักถูกจ้างมาให้ลงมือปฏิบัติจัดสร้างให้ด้วย ลักษณะของธุรกิจแบบนี้คือ เป็นบริษัทที่มีความรู้ความสามารถในการปรับแต่งซอฟต์แวร์ระดับโลกเพื่อให้ตรงกับความต้องการใช้ในองค์กรของลูกค้า ซึ่งซอฟต์แวร์ระดับโลกที่ว่าส่วนใหญ่ก็ได้แก่ Oracle Financial, SAP R/3, Magic เป็นต้น
  • ธุรกิจ Software as a Service ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เกิดมาหลังการบูมของดอทคอมไม่นานครับ โดยอาศัยโฮสติ้งขนาดใหญ่, เครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และความเติบโตของ Open Source รังสรรค์ให้เกิดโอกาสมากมายที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจประเภทนี้ ธุรกิจแบบนี้ในประเทศไทยไม่ใช่ว่าเราจะไม่เห็นกันครับ มันมีแต่เราไม่สังเกตุเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น เกมส์ออนไลน์ Ragnarok, บริการ SetSmart ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริการข้อมูลธุรกิจของ Business Online, บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ของบัวหลวงไอแบงค์กิ้ง เป็นต้น ลักษณะเด่นของธุรกิจแบบนี้คือไม่ขายตัวซอฟต์แวร์ครับ แต่จะรับรายได้จากค่าธรรมเนียมการให้บริการแทน โปรดอย่าสับสนกับ ASP (Application Service Provider) นะครับ เพราะธุรกิจนั้นไม่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นเพียงแค่ตั้ง Server แล้วรับฝากซอฟต์แวร์ของชาวบ้านเท่านั้น อย่าสับสนครับ อย่าสับสน

หมดจากนี้แล้วก็ไม่มีอีกแล้วครับ ลองดูกันนะครับสำหรับคนที่ทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์ ว่าพวกคุณอยู่ในจำพวกไหน และสำหรับผู้ที่กำลังจะเรียนจบ ถ้าสนใจจะทำงานกับธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์แบบใด ก็เลือกเอาครับ

Related Posts

7 thoughts on “รูปแบบของธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ในเมืองไทย

  1. ผมเพิ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ 1 ปีเอง ยังไม่รู้อนาคตตัวเองเลยเฮ้ออ จะเป็นโปรแกรมเอมร์ไปได้ตลอดรอดฝั่งรึเปล่า หรือจะโดนเขากดออกไม่รู้ ยิ่งไม่ค่อยเก่งอยู่ด้วย
    —————————————
    ว่าแต่ field ที่ให้กรอก e-mail นี่เอาเป็นแบบไม่ต้อง require ได้รึเปล่าครับ(แฮะๆๆ)

  2. ถามพี่ไท้ครับ ตอนนี้ผมมาขายซอฟแวร์ให้กับบริษัทต่างชาติแต่ไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าวมีแต่ความรู้เรื่องการตลาดอยากรบกวนว่า อย่างสินค้าของผมที่เขาบอกว่าใช้ระบบ (asp)มันเป็ยยังไงครับแล้วมันแตกต่างจากระบบที่เขาใช้ยังไง แล้วลูกค้าเขาจะได้อะไรที่ดีกว่าที่ไม่ใช้ระบบนี้ครับ http://thailand.infomotive.com/thailand.htm ถ้าพี่รู้ช่วยสอนน้องหน่อยครับโปรแกรมเมอร์ที่นี้เขาไม่บอกให้หาเอาเองเขาบอกว่าถามมากไม่ใช้หน้าที่เขาน้องเลยไม่มีที่พึ่งหวังพึ่งพี่ดีกว่าครับ ขอบคุณครับ

  3. ASP = Active Server Page ครับคุณชัย เป็นภาษาสำหรับสร้าง Dynamic WEB ประเภทหนึ่ง, ของจะดีไม่ดีไม่เกี่ยวภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ครับ แต่เกี่ยวกับผลลัพท์มากกว่า

  4. ขอยคุณมากครับพี่ไท้ แสดงว่าขึ้นอยู่กับตัวระบบและการสนับสนุนของทีมงานรวมไปลักษณะการนำไปใช้ว่าสามารถใช้ได้คุ้มค่าและเต็มศักยภาพในการใช้งานใช้ไหมครับ ขอบคุณครับพี่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *