คิดว่าคนที่มี Smart Phone อยู่ตอนนี้คงคิดคล้าย ๆ กัน คือ ต้องหา App เจ๋ง ๆ มาใช้ให้จงได้ ซึ่งผมเองก็คิดแบบนั้น!!!

ถ้าเราใช้ iPhone เราก็มี App Store สินะ อือม ๆ แล้วถ้าเราใช้ Samsung, HTC, Acer บลา ๆ ๆ ๆ เราก็มี Android Market อ่ะดิ งั้นเราก็ต้องเข้าไปในนั้น เพื่อหา App ที่ถูกใจและน่าสนใจสำหรับเรา

ก็ค้น ๆ กันเข้าไปครับ และก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะพบว่า App หลาย ๆ ตัวที่เราคิดว่าจะมี ก็อาจจะไม่มี เช่น เราอาจจะหา App ของบริการธนาคารเจ้าประจำไม่พบ หรือหา App ของบริการหลักทรัพย์เจ้าประจำไม่พบ (แต่บนเว็บไซต์มันมีนะเว้ยเฮ้ย) เป็นต้น

ดังนั้น ความหวังที่เหลืออยู่ของเราก็คือ การใช้ Web Browser ที่ให้มากับ Smart Phone เพื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ของบริการนั้น ๆ และก็หวังว่ามันจะรู้ได้ว่า เราใช้ Smart Phone ยี่ห้อไหน รุ่นไหน เพื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ของมัน และเมื่อมันรู้แล้ว ก็ภาวนาให้มันแสดงผลและรับการโต้ตอบตาม Smart Phone ของเราได้ด้วย

จริง ๆ แล้วโดยทางเทคนิคมันทำได้นะ ผมก็ทำเป็น โดยการอ่านค่าตัวแปรมาตรฐาน แล้วนำค่าคงที่ที่ได้ มาสกัดโครงสร้างข้อความ เพื่อเดา ๆ หรือฟันธงว่าผู้ที่เข้ามายังเว็บไซต์นั้น ได้ใช้ Device ใดในการเข้ามา จากนั้นก็แสดงผลตาม Theme ที่เตรียมเอาไว้ หรือ Redirect ไปยังหน้าเว็บไซต์ที่รองรับ Smart Phone ก็เป็นอันจบ ซึ่งการทำอย่างที่ว่ามันก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นนิดหน่อย (ไม่ใช่ทุกเว็บ) เพราะเหมือนกับการทำเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาอีกอันนึง เพียงแต่เป็นเว็บไซต์ที่ขนาดเล็กกว่าเท่านั้นเอง (ต้องทำ Theme ใหม่ แล้วใช้กลไกเดิม หรือสำเนากลไกเดิมมาใช้งาน)

งั้นเราก็จะเห็นว่า ตอนนี้ เส้นทางในการเข้าถึง App บน Smart Phone ของเรา สามารถแบ่งได้เป็น 2 เส้นทางสินะ คือ 1) เข้าไปดาวน์โหลด App มาลงที่เครื่องฯ แล้วก็เรียกตรง ๆ จากในเครื่องฯ หรือ 2) เข้าผ่าน Web Browser เพื่อใช้งาน Web Application รุ่น Mobile Application

ตามหลักพุทธศาสนาบอกเอาไว้ว่า มีแยกก็มีรวม มีรวมก็มีแยก ดังนั้น ผมก็เลยได้อ่านข่าวผ่านตาบ่อย ๆ ว่า มีความพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะทำให้มาตรฐานในการพัฒนา Mobile Application เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อจะได้ Deploy ได้ทั่ว ๆ โดยไม่ต้องเกี่ยงว่าเป็น OS ไหน ค่ายใด และในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นข่าวการพัฒนา HTML รุ่นถัด ๆ ไป เพื่อให้การทำ Multimedia และ Animation ผ่าน HTML เทพยิ่ง ๆ ขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งก็หมายถึงการที่ Web Browser จะมีลูกเล่นมากมายก่ายกองขึ้น ในการแสดงผลและโต้ตอบกับผู้ใช้งาน

ถ้าผมใส่หมวกนักพัฒนา Mobile Application ผมก็คงต้องสนใจเรื่องนี้ให้มาก ๆ แต่ถ้าผมถอดหมวกที่ว่าออก แล้วใส่หมวกของการเป็นผู้ใช้งานแทนล่ะ อือม ผมก็คงไม่สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะตอนนี้ที่ผมสนใจก็คือ เมื่อไหร่กันหนอ ธุรกิจต่าง ๆ ที่เพิ่งจะปรับปรุงกลยุทธ์แนวรุก โดยการเปิดเว็บไซต์เพื่อบริการลูกค้า จะรู้จักปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้บริการลูกค้าที่กำ Device ที่เรียกว่า Smart Phone อย่างสมบูรณ์เสียที

Related Posts

2 thoughts on “ทางแยกของ Mobile Application

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *