คุณค่าของข้อมูลบนโลกออนไลน์ขึ้นกับวันที่และเวลา

วันที่ซึ่งนิยามข้อมูลบนโลกออนไลน์แบ่งออกได้เป็น 3 วันที่ อันได้แก่ 1) วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในโลกแห่งความจริง, 2) วันที่บันทึกเหตุการณ์เข้าโลกออนไลน์ และ 3) วันที่ผู้ใช้งานได้เห็นเหตุการณ์ที่บันทึกบนโลกออนไลน์

มาลองยกตัวอย่างวันที่ทั้ง 3 วันที่จากเหตุการณ์สมมติกันดีกว่า …

นายจริงใจ ได้พบกับเหตุการณ์คนไล่ตีกันในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 17.30 น. วันนั้นเขาพกโทรศัพท์ Samsung Galaxy S ไปด้วย เขาก็เลยถ่ายคลิปวีดีโอของเหตุการณ์นั้นเอาไว้ทันที

เนื่องจากนายจริงใจเป็นคนขี้ลืมประสาทช้า พอวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 08.30 น. เขาก็เลยเพิ่งนึกขึ้นได้ว่ามันน่าจะเป็นการดี หากเขาอัปโหลดคลิปวีดีโอขึ้น Youtube ให้ชาวบ้านได้ดูกัน

สองปีผ่านไป วันหนึ่งในวันหยุดอันแสนว่าง ซึ่งเป็นวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21.15 น. นางสาวแสนดีก็ดูคลิปบน Youtube ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ได้ดูคลิปวีดีโอคนไล่ตีกันที่นายจริงใจได้อัปโหลดเอาไว้

จากเหตุการณ์สมมติจะทำให้เราเห็นว่า …

ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นข่าวด่วน วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในโลกแห่งความจริง, วันที่บันทึกเหตุการณ์เข้าโลกออนไลน์ และ วันที่ผู้ใช้งานได้เห็นเหตุการณ์ที่บันทึกบนโลกออนไลน์ ควรจะมีช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ยิ่งเป็นวันที่และเวลาเดียวกันยิ่งทำให้ข้อมูลมีค่าเข้าไปใหญ่

ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสารคดี วันที่ผู้ใช้งานได้เห็นเหตุการณ์ที่บันทึกบนโลกออนไลน์ จะทิ้งระยะจาก วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในโลกแห่งความจริง และ วันที่บันทึกเหตุการณ์เข้าโลกออนไลน์ ก็ได้ เพราะคุณค่าของข้อมูลไม่ได้ลดลงเพราะความเก่าของข้อมูล

ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นละครสั้น วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในโลกแห่งความจริง และ วันที่บันทึกเหตุการณ์เข้าโลกออนไลน์ จะต้องกระชั้นชิดใกล้ ๆ กัน แต่เผยแพร่ให้ผู้ชมช้าหน่อยก็ได้

โดยส่วนตัวผมมองว่า วันที่และเวลากำลังกลายเป็นมิติหลักที่สำคัญสำหรับข้อมูลบนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *