สารนิพนธ์และวิทยานิพนธ์ทางคอมพิวเตอร์

คนที่จะเรียนจบปริญญาโททางคอมพิวเตอร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำผลงานอะไรซักอย่างหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญาเพียงพอที่จะได้รับปริญญาบัตรระดับมหาบัณฑิตได้

ไอ้เจ้าผลงานอะไรซักอย่างหนึ่งที่ว่า มันก็มีชื่อเรียกอยู่สองอย่าง นั่นคือ สารนิพนธ์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Master Project และ วิทยานิพนธ์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Thesis

สาเหตุที่วิธีการทำผลงานมันมีอยู่สองแบบ ก็เป็นเพราะโครงสร้างหลักสูตรที่ถูกประกาศขึ้น มันมีความแตกต่างกันในเนื้อหา ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยรัฐก็แล้วกัน อย่างมหาวิทยาลัยของรัฐเนี่ย จะมีการทำหลักสูตรออกมาเป็น 3 แบบ นั่นคือ แบบ ก (1), แบบ ก (2) และ แบบ ข

แบบ ก (1) คือ ลงทะเบียนเสร็จก็ทำผลงานเลย ไม่ต้องเรียนอะไรเพิ่มเติม ซึ่งแบบนี้มีประกาศก็จริง แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนรับสมัครหรอก เพราะคนเขาจะมาเรียนหนังสือกัน ขืนไม่สอนอะไรเลย แล้วจะมาเรียนหาพระแสงอะไร?

แบบ ก (2) คือ ลงทะเบียนเรียน พอเรียน ๆ ไปจนถึงสองเทอมสุดท้าย ก็ต้องทำ วิทยานิพนธ์ หรือ Thesis นั่นแหล่ะ โดยเป็นวิชาที่ต้องลงทะเบียนเรียนถึง 12 หน่วยกิต เพราะเป็น 6 หน่วยกิตสำหรับเทอมรองสุดท้าย กับ 6 หน่วยกิตสำหรับเทอมสุดท้าย แปลง่าย ๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยเขาหวังจะให้คนที่เรียน ใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มในการสร้างสรรค์ผลงาน

แบบ ข คือ ลงทะเบียนเรียน แล้วพอถึงเทอมสุดท้าย ก็ต้องทำ สารนิพนธ์ หรือ Master Project โดยเป็นวิชาที่ต้องลงทะเบียนเรียน 6 หน่วยกิต แปลง่าย ๆ ก็คือ ให้เวลาเทอมนึงสำหรับการทำผลงาน

จะเห็นว่าความแตกต่างข้อแรกระหว่าง สารนิพนธ์ (Master Project) กับ วิทยานิพนธ์ (Thesis) ก็คือระยะเวลาที่กำหนดให้ทำผลงาน เพราะทางมหาวิทยาลัยคาดหวังว่า ยิ่งให้เวลามากเท่าไหร่ ผลงานก็ยิ่งเลิศเลอมากเท่านั้น!!!

ความแตกต่างข้อสองระหว่าง สารนิพนธ์ (Master Project) กับ วิทยานิพนธ์ (Thesis) ก็คือระดับความยากง่ายของการทำผลงาน ซึ่งผมเขียนอธิบายไว้ในตารางในภาพข้างล่างนี้

โดยมาตรฐานแล้วคนที่เรียนแผน ข แล้วทำสารนิพนธ์ (Master Project) ได้แค่ระดับ 1 ก็ถือว่าโอเคแล้ว ยิ่งถ้าทำถึงระดับ 2 ได้ก็ถือว่าเทพมาก ๆ ในขณะเดียวกัน คนที่เรียนแผน ก (2) จำเป็นต้องทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) ให้ได้ถึงระดับ 2 เป็นอย่างน้อย ยิ่งถ้าถึงระดับ 3 ได้ก็ถือว่าเทพมาก ๆ เพราะพิสูจน์ให้เห็นว่าพร้อมจะจบออกไปทำผลงานทางวิชาการ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป

และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ถึงรับคนเข้าเรียนในแผน ก (2) แค่ปีล่ะ 5-10 คนเท่านั้น เพราะมันจบยากนรกโลกันต์แบบนี้นี่เอง

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *