วิวัฒนาการของโปรแกรมดูหุ้น

ช่วงนี้ผมจับจ้องหุ้นเป็นพิเศษ หลังจากที่ไม่ได้สนใจมันมานานพอควร เหตุผลคงเป็นเพราะดัชนีมันจะแตะ 900+ อยู่มะรอมมะร่อ ซึ่งผมเห็นว่ามันมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกออกมาว่า น่าจะมีการปรับฐานเกิดขึ้น และก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นการปรับฐานลงมากกว่า เพราะการที่หุ้นขึ้นก็เนื่องจากมีการเข้ามาเก็งกำไรของเงินนอก เงินนอกไหลเข้ามาจนกระทั่งทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้หุ้นทะยานขึ้น เพราะเงินนอกที่เอามากว้านซื้อเงินบาท ถูกถมเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นบ้านเรา

การจะดูหุ้นเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่จะต้องไปยืนดูที่หน้ากระดานที่บริษัทหลักทรัพย์จัดเตรียมเอาไว้ เดี๋ยวนี้เราดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แล้ว แถมถึงขั้นดูผ่านโทรศัพท์มือถือได้ด้วย แต่พวกเรารู้กันบ้างหรือเปล่าว่า กว่าจะมาถึงตอนนี้ได้ โปรแกรมดูหุ้นได้ผ่านวิวัฒนาการอะไรมาบ้าง?

ผมไม่ลงวันที่ชัดเจนนะ เอาจากประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าก็แล้วกัน!!

MS-DOS จ๋า จุ๊บ ๆ

ผมได้เห็นโปรแกรมดูหุ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ตอนนั้น CEO เรียกให้คนศูนย์คอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบคอมพิวเตอร์ เพราะพี่แกดูหุ้นไม่ได้ ซึ่งความซวยมาตกที่ผม ผมก็เลยต้องเป็นคนไปดูให้ เลยได้เห็นว่าโปรแกรมดูหุ้นในตอนนั้น ใช้สั่งซื้อสั่งขายหุ้นไม่ได้ เรียกว่าเอาไว้ดูหุ้นเฉย ๆ จริง ๆ โดยมันเป็นโปรแกรมที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ MS-DOS แสดงผลหน้าจอแบบ Text Mode, เชื่อมต่อกับบริษัทให้บริการข้อมูลหุ้นด้วย MODEM 14.4K ผ่านเบอร์โทรศัพท์เฉพาะที่บริษัทฯจัดเตรียมเอาไว้ให้ลูกค้า ซึ่งผมคิดว่าเขาคงจะใช้ระบบโปรโตคอลแบบปิด ไม่ใช่โปรโตคอลที่แพร่หลายในทุกวันนี้

สรุปตอนนั้นผมไม่มีปัญญาแก้ไขให้เขาได้ เพราะบริษัทที่ให้บริการข้อมูลหุ้นนั่นแหล่ะ ที่ไม่ยอมส่งข้อมูลมาให้เพราะระบบขัดข้อง

Desktop Application ครองโลก

ปี พ.ศ. 2546 ผมก็เริ่มเปิดพอร์ตหุ้นเป็นของตัวเอง ตอนนั้นเริ่มก้าวหน้าแล้ว เพราะผมสามารถดูหุ้นและสั่งซื้อสั่งขายหุ้นได้ผ่านโปรแกรมดูหุ้น ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดหาเอาไว้ให้กับลูกค้า โดยให้ลูกค้าดาวน์โหลดโปรแกรมไปเองผ่านหน้าเว็บ

โปรแกรมดูหุ้นสมัยนั้น ส่วนใหญ่เขียนขึ้นด้วย Microsoft Visual C++ ดังนั้น ลูกค้าจึงต้องใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows เพื่อใช้งานโปรแกรมดังกล่าว โดยโปรแกรมจะเชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทหลักทรัพย์ผ่านโปรโตคอลแบบปิดของตัวเอง และโปรโตคอลที่ว่าก็ขี่อยู่บนโปรโตคอล TCP/IP อีกทีนึง ลูกค้าก็เลยไม่ต้องหมุน MODEM ไปที่บริษัทหลักทรัพย์ แต่หมุน MODEM ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแทน

Applet มาแล้วจ้า

ผมคิดว่าลูกค้าคนอื่นก็น่าจะคิดเหมือนผม ว่าถ้าเราไปดูหุ้นที่คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราก็ต้องไปลงโปรแกรมดูหุ้นใหม่ เสียเวลาทำมาหากิน แถมบางทีเครื่องนั้น ๆ อาจจะล็อกสิทธิ์เอาไว้ ไม่ให้เราติดตั้งโปรแกรมอีกต่างหาก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอะไรดลใจบริษัทหลักทรัพย์เหล่านั้น ทำให้มีการพัฒนาโปรแกรมดูหุ้นแบบใหม่ โดยใช้กลไก Java Applet ร่วมกับ Active X เพื่อให้สามารถดูหุ้นผ่าน Web Browser ได้ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลามาดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมดูหุ้นอีกต่อไป

Rich Internet Application คือคำตอบ?

ปัญหาใหญ่ของ Java คือมันช้า และดูท่าทางจะไม่เหมาะกับการโต้ตอบแบบสองทาง เพราะเห็นได้ชัดว่าถ้าผมดูหุ้นผ่านโปรแกรมดูหุ้นแบบ Java Applet ที่บ้านมันจะไม่มีปัญหา สามารถสื่อสารข้อมูลแบบสองทางได้ แต่ถ้ามาดูที่ทำงานซึ่งต้องกำหนด Proxy แล้วล่ะก็ โปรแกรมดูหุ้นจะแบ๊ะ ๆ ไม่สามารถสื่อสารสองทางได้ทันที

และทางบริษัทหลักทรัพย์ก็คงจะรู้ในข้อด้อยข้อนี้ พี่แกก็เลยทำโปรแกรมรุ่นใหม่ออกมา เพื่อให้ยังคงความเป็น Web Application อยู่ แต่เพิ่มขีดความสามารถในการตอบโต้แบบสองทางเข้าไป โดยการเลือกใช้ Web Application Framework ที่สนับสนุนความเป็น Rich Internet Application ขึ้นมา เพื่อยกระดับโปรแกรมดูหุ้นให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

เสียดายที่ความเป็น Rich Internet Application บางครั้งมันก็ขึ้นกับ Platform ดังนั้น ทุกวันนี้ผมก็เลยต้องดูหุ้นผ่านโปรแกรมดูหุ้น ที่ทำงานเฉพาะบน Internet Explorer เท่านั้น (มันทำจาก ASP .NET) ยังไม่สามารถใช้งานผ่าน Web Browser อื่นอย่าง Mozilla Firefox หรือ Google Chrome

Smart Phone ของเรา

ผมยังไม่มี Smart Phone เป็นของตัวเอง ยังอาศัยจิ้มเล่นจากของผู้ร่วมงานและเพื่อน ๆ อยู่ ก็เลยยังไม่เคยซื้อขายหุ้นผ่าน Smart Phone จริง ๆ ซักที เลยยังไม่สามารถโม้ได้ว่า มันน่าจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอะไรบ้าง

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือวิวัฒนาการของโปรแกรมดูหุ้นอ่ะนะ ไม่รู้ว่าต่อไปอนาคตข้างหน้ามันจะเทพยิ่งกว่านี้หรือเปล่า ไม่แน่ว่าต่อไปมันอาจจะเชื่อมเข้ากับเทคโนโลยี Brain Computer Interface ก็ได้นะ ใครจะรู้?

Related Posts

One thought on “วิวัฒนาการของโปรแกรมดูหุ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *